กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers' Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 14 - 15 ตุลาคม 2562 ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐชิลี (นาย Felipe Larrain) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม
ซึ่งแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2562 คือ เชื่อมโยงประชาชนเพื่อสร้างอนาคต (Connecting People, Building the Future) และมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ทั้ง 4 องค์กรระหว่างประเทศมีความเห็นร่วมกันว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลก โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคที่เข้มแข็งยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการเติบโตของภูมิภาค ทั้งนี้ ADB คาดว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปคในปี 2562 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในการนี้ สมาชิกเอเปคจึงจะร่วมมือกันสนับสนุนในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุลในภูมิภาค รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วมต่อไป
2. ในการประชุม APEC FMM ครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
2.1 เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มและการเข้าถึงทางการเงิน (Digital Economy for Financial Integration and Inclusion) ที่ประชุมสนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคการเงินเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการกำกับดูแลและพัฒนากฎระเบียบทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงินอย่างต่อเนื่องและพัฒนากรอบการกำกับดูแล (Regulatory Framework) ที่เอื้อต่อการแข่งขัน รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และที่ประชุมยังสนับสนุนการเข้าถึงทางการเงินอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนฐานรากและประชาชนในเขตพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ความรู้ทางการเงินซึ่งจะมีส่วนช่วยในการยกระดับสุขภาพทางการเงินของประชาชนด้วย
2.2 การบริหารการเงินและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Financing and Insurance) ภูมิภาคเอเปคเผชิญกับภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลัง ดังนั้นการบริหารการเงินและการประกันภัยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนากลไกการบริหารการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะในการถ่ายโอนความเสี่ยง
2.3 การผลักดันความร่วมมือด้านภาษีและความโปร่งใส (Fostering International Tax Cooperation and Transparency) ความแน่นอนทางภาษี (Tax Certainty) และความโปร่งใสทางภาษี (Tax Transperency) เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจด้านการลงทุนซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติทางภาษีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ที่ประชุมจึงสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคร่วมมือกันส่งเสริมความแน่นอนทางภาษีและจัดการกับการหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) และการหนีภาษี (Tax Evasion) ในภูมิภาค
2.4 การเร่งรัดการลงทุนและระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Accelerating Infrastructure Development and Financing) สมาชิกเอเปคเห็นว่าการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสร้างผลตอบแทน (Bankable) จะมีส่วนช่วยในการยกระดับการผลิต ส่งเสริมการเชื่อมโยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างงาน และเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง จึงสนับสนุนให้สมาชิกดำเนินการตามแผนแม่บทความเชื่อมโยงในเอเปค ค.ศ. 2015 - 2025 (APEC Connectivity Blueprint 2558 - 2568) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
ทั้งนี้ การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 27 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย