กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนชุดโครงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับการพัฒนาการของเด็กเล็ก เพื่อเปิดโอกาสให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ดำเนินโครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ ภูมิปัญญา พื้นที่กิจกรรมทางกาย เป็นแนวคิด ของการสร้าง "พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก" โดย เน้นไปที่การสร้างสุขภาวะที่ดี 4 ด้าน (กาย จิต สังคม ปัญญา) ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ดี นั่นก็คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี
ทำให้เกิดกระบวนการกิจกรรม เพื่อสร้างสรรค์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามช่วงวัยของเด็กเล็ก รวมทั้งการปลูกฝังการเป็นพลเมืองเด็ก ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้ดูแลเด็ก ที่ส่งผลสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกมิติของเด็กเล็ก ภายใต้ชื่อโครงการ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ด้วยว่า "สื่อ" เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมและสุขภาพของเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกัน "สื่อ" และ "พื้นที่สร้างสรรค์" ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาวะทุกมิติ สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชน ให้มีความความฉลาดรู้ด้านสื่อ ด้านสุขภาพ และความตื่นรู้ทางปัญญา ได้อย่างทรงพลัง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างพลเมืองเด็กที่มีจิตสำนึกในการเป็นพลเมือง มีทักษะชีวิต ที่เท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม มีความฉลาดรู้ทางสุขภาพ และมีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม
กิจกรรมสื่อสร้างสรรค์ การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ถูกบูรณาการให้เข้ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดำเนินการได้ทดลอง ปรับใช้กระบวนการกิจกรรมมาบูรณาการไปกับการจัดประสบการณ์ในเด็กปฐมวัย พร้อมๆ กับการบันทึกผลของการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ โดยพบว่า เด็กปฐมวัยที่เข้าร่วมโครงการ มีความสุขและมีสุขภาวะ ที่ดีขึ้น หลายศูนย์ฯ สะท้อนว่า เด็กๆ มีความสุขมากขึ้นสังเกตจากเด็กชอบมาเรียน มีมุมการเล่น มีสนาม มีแปลงปลูกผัก เด็กรู้สึกสนุก ไม่อยากขาดเรียน ทำให้เต็มใจที่จะเรียนรู้อย่างมีความสุข อัตราการขาดเรียนลดน้อยลง และพบว่า เด็กแข็งแรง มีพัฒนาการทางด้านร่างกายแข็งแรง พัฒนาการสมวัยมากขึ้น เนื่องจากได้มีพื้นที่การเล่นที่ช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การปีนป่าย การทรงตัว การได้เล่นน้ำ เล่นทราย ขุดดิน ปลูกผัก ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือว่าเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม เพราะว่ายังไม่เคยได้จัดทำมาก่อน ทำให้เด็กๆในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เล่นกลางแจ้ง มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพัฒนาการทางด้านร่างกาย กล่าว คือ เมื่อก่อนไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว เด็กอยู่แต่ในห้อง ก็รับประทานนม หรืออาหารได้น้อย เมื่อเด็กได้เล่น ได้ทำกิจกรรมมากขึ้นก็มีการรับประทานอาหารที่มากขึ้น ร่างกายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่สำคัญเด็กได้เรียนรู้สังคมมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น จากการที่เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หลากหลาย ที่ได้จัดขึ้นในโครงการ มีพัฒนาการทางด้านสังคม กล่าวคือเด็กได้เล่นกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ฝึกเรื่องระเบียบ วินัย การเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เกิดการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ มากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ เกิดขึ้นจากบุคคลสำคัญ คือ ครูปฐมวัย หรือครูผู้ดูแลเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่จัดกระบวนการกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ภายใต้ แนวคิด สามดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) จากการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพครูที่โครงการได้ออกแบบและพัฒนา ทำให้เป็นครูที่มีความสามารถในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก มีกิจกรรมที่นำไปปปฏิบัติจริงในพื้นที่ ด้วย การจัดพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กได้มีการเล่น เรียนรู้ ผ่านกระบวนการกิจกรรมสร้างสรรค์ สื่อสร้างสรรค์ และพื้นที่สร้างสรรค์ การจัดประสบการณ์เรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นมุมการเล่น มุมบ้าน มุมทราย มุมการอ่าน เพื่อการเรียนรู้ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง อย่างเป็นรูปธรรมของการทำงานที่นำไปสู่ความร่วมมือของผู้ปกครอง และเพื่อนครู โดยมีกิจกรรมสำคัญ ของ 3 ดี เพื่อพัฒนาเด็ก ดังนี้
1. กิจกรรมเล่านิทานอ่านหนังสือ และสื่อประกอบ ฝึกให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านและเสริมสร้างจินตนาการความคิดสร้างการเป็นผู้นำผู้ตาม การมีทักษะในการฟัง การพูดการคิด โดยมีการจัดกิจกรรมผ่านการเล่าผ่านหุ่นมือ โรงนิทาน หุ่นชัก ถุงกระดาษตุ๊กตา เป็นต้น
2. กิจกรรมเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น มุมน้ำ มุมทราย การเล่นร่วมกับคนอื่น การสร้างสรรค์ผลงาน รู้จักยอมรับผู้อื่น การปรบมือ รู้จักการแบ่งปัน การแก้ไขปัญหา โดยเด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ประสานสัมพันธ์ระหว่างมือและสายตา
3. กิจกรรมทางกาย ผ่านสนามและพื้นที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เด็กๆได้มีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากล้อยาง และวัสดุในท้องถิ่น เช่น ตอไม้ ท่อนไม้ เพื่อ ฝึกการทรงตัว ใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของเด็กๆ การทดลองผิดลองถูก การช่วยซึ่งกัน เด็กมีความมั่นใจและการแสดงออกทางอารมณ์
4. กิจกรรมบทบาทสมมุติ ส่งเสริมการรู้จักปรับตัวเองและยอมรับคนอื่นในการอยู่ร่วมกัน รู้จักแบ่งปัน การแก้ปัญหาให้การเล่นบทบาทสมมุติ และการเล่นเลียนแบบสิ่งแวดล้อมต่างๆ
5. กิจกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็กมีความสุขสนุกสนานในการเล่นและทำกิจกรรมจริงกับผู้ปกครอง ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นและสามารถนำเอาการละเล่นกลับไปเล่นกับเพื่อนในชีวิตประจำวันได้
6. กิจกรรมส่งเสริมความฉลาดรู้ทางอาหาร ส่งเสริมการเรียรู้เรื่องอาหารดีมีประโยชน์ ผ่านกิจกรรมที่เด็กๆ ลงมือทำ เช่น การทำแปลงผัก เกษตรกรน้อย มุมการปลูกผักสวนทำให้เด็กมีระเบียบวินัยต่อตนเอง ในการรับผิดชอบการทำงาน และฝึกให้เด็กได้รับประทานผักสดเพิ่มขึ้นด้วย
การรวมพลังของ "ครูมหัศจรรย์" จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญกับการร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วย "สื่อสร้างสุขภาวะ" กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กในระดับปฐมวัย โดยกระบวนการเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังหล่อหลอมให้เด็กๆ มีทักษะชีวิตโดยใช้กระบวนการสื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองเด็กอย่างมีสุขภาวะดีครบทุกด้านต่อไป
โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่ม wearehappy.องค์กรสาธารณประโยชน์