กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการชิมช้อปใช้ ได้มีการส่ง SMS ยืนยันให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ครบ 10 ล้านรายแล้ว โดยมีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" แล้ว 9,606,300 ราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 9,260,223 ราย ผ่านทั้งช่องทางแอปพลิเคชันและที่สาขา
ในการใช้จ่าย 19 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์ 8,519,390 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,282 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ ร้อยละ 82 หรือ 6,793 ล้านบาท และการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงเริ่มต้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18 หรือ 1,489 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายกระจายครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ โดยการใช้จ่ายในกรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 13ทั้งนี้ เป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,169 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน "ช้อป" ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 4,576 ล้านบาท ส่วนร้าน "ชิม" หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 1,152 ล้านบาท ร้าน "ใช้" เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ มียอดใช้จ่าย 96 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปมียอดใช้จ่าย 2,345 ล้านบาท
การใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีการใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 36,854 ราย ยอดใช้จ่ายรวม 113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากวันก่อนหน้า หรือเฉลี่ยรายละ 3,066 บาท เป็นการใช้จ่ายที่ร้าน "ช้อป" 70 ล้านบาท ร้าน "ชิม" และร้าน "ใช้" มียอดใช้จ่าย 28 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท ตามลำดับ
โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า ประชาชนสามารถเติมเงิน เพื่อใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ได้ทั้งร้านชิมช้อปใช้และร้านค้าทั่วไปในทุกจังหวัด ยกเว้นเพียงจังหวัดตามทะเบียนบ้านของตน ซึ่งการใช้จ่ายในร้านชิมช้อปใช้จะได้รับเงินคืนร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 4,500 บาท (ยอดใช้จ่ายสูงสุด 30,000 บาท) โดยจะได้รับเงินคืนเข้าแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ภายในเดือนธันวาคม 2562 สำหรับขั้นตอนการเติมเงินเข้า g-Wallet ช่อง 2 สะดวกและรวดเร็ว สามารถเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ได้ทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่างๆ ได้ เช่น หากใช้ของธนาคารกรุงไทยและธนาคารทหารไทยให้เลือกเมนูโอนเงินพร้อมเพย์ (Transfer) หากใช้ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารออมสินให้เลือกเมนูเติมเงินพร้อมเพย์ (Top up) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายช่องทางการเติมเงินเพิ่มเติม เช่น ผ่านเครื่อง ATM เป็นต้น
โฆษกกระทรวงการคลัง ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของมาตรการ "ชิมช้อปใช้" ว่า เป็นการพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นไม่ให้ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ผ่านการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยให้แรงจูงใจดึงผู้มีกำลังซื้อออกมาเดินทาง กระจายเม็ดเงินไปยังเศรษฐกิจฐานรากและเกิดความคึกคักในการจับจ่าย ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณในการสร้างแรงจูงใจจะคุ้มค่าเพราะก่อให้เกิด Multiplier Effect ในการบริโภคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีการช่วยเหลือในภาคส่วนอื่น เช่น เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งภาครัฐยังคงมีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง