กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักงาน กปร.
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอำพล กิตติอำพล องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯเดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำโดยเร็ว ณ พื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเดินทางไปยังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านเขว้า และอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานพร้อมกับตรวจเยี่ยมสภาพพื้นที่โครงการฯ และพบปะเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการฯ
"วันนี้มาดูความก้าวหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านเขว้า และอำเภอ หนองบัวระเหว และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ทั้ง 2 โครงการมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นน้ำของแม่น้ำชี ที่มีอิทธิพลต่อหลายจังหวัดทางตอนใต้ของลำน้ำ หากบริหารจัดการต้นน้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้พื้นที่ทางตอนล่างของลำน้ำมีความปลอดภัยจากอุทกภัยในช่วงหน้าฝนและแก้ปัญหาภัยแล้งในช่วงหน้าแล้งได้ด้วย ทั้ง 2 โครงการนี้โชคดีที่ประชาชนในเขตจังหวัดชัยภูมิให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งทางกรมชลประทานจะได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างโครงการฯ และการทดแทนแก่ราษฎรที่เสียสละพื้นที่ให้กับโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2567 และในช่วงที่กำลังก่อสร้างซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ แต่มีการเก็บกักน้ำไว้บ้างแล้วนั้น ก็จะนำมาบริหารจัดการเพื่อก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญประชาชนในภาคอีสานตอนล่างของแม่น้ำชีลงไปจะได้รับประโยชน์กันอย่างทั่วถึง" นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี กล่าว
ทางด้านนางศศินี ปลีการ ราษฎรบ้านหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในผู้ได้รับประโชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ประชาชนชาวหนองบัวแดง ต่างรอคอยโครงการนี้มา 30 ปี ถ้ามีอ่างความเป็นอยู่จะดีขึ้น สามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้มากขึ้น เพราะหนองบัวแดงคืออำเภอที่ปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ส่งไปจำหน่ายประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีการปลูกลำไย เงาะ และทุเรียน ที่ผ่านมามักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับบำรุงต้นพืชเหล่านี้ ถ้าอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จก็จะมีน้ำใช้ได้อย่างสมบูรณ์
"รู้สึกดีใจที่แหล่งน้ำแห่งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุก ๆคน และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงห่วงใยราษฎรและให้องคมนตรีและคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานและความคืบหน้าของโครงการฯ" นางศศินี ปลีการ กล่าว
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้เมื่อปี 2526 เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำทำการเพาะปลูกและเพื่อการอุปโภคบริโภครวมถึงบรรเทาปัญหาอุทกภัย โดยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ กรมชลประทานจึงได้กำหนดแผนการก่อสร้างรวม 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2567 และ เมื่อปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมาคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ได้อนุมัติงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างถนนทางเข้าหัวงาน และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ ก็จะเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนให้กับสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิจนถึงจุดบรรจบลำน้ำพองในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝน จำนวน 45,000 ไร่ ช่วงฤดูแล้ง 30,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการประมงน้ำจืด รวมถึงช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำอีกด้วย
ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ราบเชิงภูเขียว ตั้งแต่ปี 2526 ปี 2536 และปี 2540 ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยในปี 2538ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่าบริเวณก่อสร้างโครงการฯ มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวจึงพิจารณาตำแหน่งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ซึ่งอยู่บริเวณตอนล่างของลำสะพุงนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อเป็นการลดผลกระทบการใช้พื้นที่ป่า โดยกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2567 ซึ่งในปี 2562 เป็นงานเตรียมความพร้อมของโครงการ และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ราษฎรจะมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนจำนวน 40,000 ไร่ ในช่วงฤดูแล้ง 8,000 ไร่ และช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพประมงเสริมให้กับราษฎรเพิ่มขึ้นอีกด้วย