กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการแก้มลิงบ้านเกาะยวน ณ ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า จากการที่ราษฎรในพื้นที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กว่า 523 ครัวเรือน ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่การเกษตรกว่า 16,289 ไร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยการขุดลอกแก้มลิง พร้อมสร้างอาคารประกอบ รวมถึงระบบส่งน้ำกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ซึ่งโครงการแก้มลิงบ้านเกาะยวนนี้สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 550,000 ลูกบาศก์เมตร มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และหอถังพร้อมระบบส่งน้ำความยาวประมาณ 6,330 เมตร นับว่าเป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง ที่สามารถเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนกว่า 150 ครัวเรือน ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่ แบ่งเป็น เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน 600 ไร่ สวนยางพารา 220 ไร่ ไม้ผล ทุเรียน มังคุด พืช ผักตามแนวโครงการเศรษฐกิจพอเพียง 140 ไร่ และทำนา 40 ไร่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชะลอน้ำขนาดเล็ก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด เป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำคลองพุมดวงได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกาม จำนวน 500,000 ตัว และพันธุ์ปลา จำนวน 200,000 ตัว แบ่งเป็น ปลาตะเพียนทอง 40,000 ตัว ปลากระแห 40,000 ตัว และปลาบ้า 120,000 ตัว ซึ่งการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการขยายพันธุ์ และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศของแหล่งน้ำด้วย
จากนั้นได้เดินทางไปหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านนาดง ม.7 โดยได้รับฟังปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินจากนายก อบต.บางงอน และกำนัน ต.บางงอน และพบปะเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มที่ ในเบื้องต้นจะรับเรื่องไว้ และพร้อมที่จะช่วยประสานในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ได้ตรวจเยี่ยมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ผัก ต.บางท่าขาม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ตามแนวคิดตลาดนำการผลิต ลดการใช้สารเคมีที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม มีการปลูกพืชผักที่หมุนเวียนหลากหลาย อีกทั้งยังมีการพัฒนาโรงคัดแยกให้ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งการดำเนินโครงการแปลงใหญ่ผักนี้ มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเทสโกโลตัส และมีการบริหารจัดการด้านการตลาดอย่างเป็นระบบ เช่น การสร้างแบรนด์ "กลุ่มแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม" พัฒนาคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ พัฒนาคุณภาพผักตามหลักสากล เพิ่มระบบค้าส่ง มีการตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้า สินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นต้น