DEMATERIALIZATION, DOING MORE WITH LESS โลกยุคใหม่ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง By Chief Investment Officer

ข่าวทั่วไป Thursday October 17, 2019 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--เอสซีบี "การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด" หากใครเคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มา อาจจะคุ้นกับข้อความข้างต้นนี้ เนื่องจากทรัพยากรบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน วัตถุดิบที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิต หรือพลังงานอย่างน้ำมัน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้มนุษย์คิดค้นเทคโนโลยีที่ทำให้สะดวกสบายและลดเวลาในการทำงานลง เช่นการเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ที่มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่การทำงานรูปแบบเดิม ส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น ถูกขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มนุษย์สามารถปลดล็อคข้อจำกัดในการผลิตที่ต้องพึ่งแรงงานคนและเวลา ส่งผลให้ทั่วโลกมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นได้ ในอีกด้านหนึ่งการผลิตในยุคอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากก็ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ทั้งด้านภาวะเรือนกระจก ปัญหามลพิษทางอากาศและภูมิภาคของโลกเริ่มเปลี่ยนไป ก่อให้เกิดแนวคิด Dematerialization ที่มีจุดประสงค์หลักคือการลดการใช้ทรัพยากรการผลิต ในขณะที่ยังสามารถตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคได้เหมือนเดิม (Doing more with less) แนวคิดดังกล่าวได้ส่งผลต่อไปยังการดำเนินธุรกิจ จากสมัยก่อนที่เน้นการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการขยายโรงงานหรือการจ้างพนักงานจำนวนมากเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันไปยังการเน้นการลงทุนเพื่อค้นคว้าและวิจัย เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการผลิตมากขึ้น โดยแรงกระตุ้นของการ Dematerialization นั้นมีอยู่หลากหลายประเด็นและเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐ การแข่งขันของภาคเอกชน การนำเสนอแนวคิดของหน่วยงานอิสระ หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การเสพสื่อความบันเทิงของผู้บริโภคจากแต่ก่อนที่หากต้องการบริโภค Content ไม่ว่าจะภาพยนตร์ เพลงหรือเกม ผู้บริโภคต้องซื้อหนังสือ แผ่น CD หนังเพลง หรือตลับเกม โดยสถานที่เก็บสื่อเหล่านั้นมีการใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากทั้ง ห้องสมุดขนาดใหญ่ โรงหนังหรือร้านขายแผ่นเพลง เป็นต้น แต่ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเสพสื่อความบันเทิงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สื่อรูปแบบเดิมอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งไม่จำเป็นต้องออกนอกที่พักอาศัยด้วยการใช้บริการ Netflix, Spotify, Amazon Kindle หรือ Steam เห็นได้ชัดจากยอดขายเพลงในรูปแบบแผ่น CD ในสหรัฐฯ ลดลงจาก ปี 2000 ที่ยอดขาย 943 ล้านแผ่น เหลือเพียง 52 ล้านแผ่น ในปี 2018 แต่ผู้ใช้ Spotify แบบ Premium ที่ต้องเสียเงินรายเดือนเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคนในปี 2015 เป็น 100 ล้านคนในปี 2019 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ร้านหนังสือ ร้านขายแผ่นหนัง ซีดีเพลง หรือร้านเกม ตามห้างสรรพสินค้าลดน้อยลง และยังส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานอย่างอุตสาหกรรมกระดาษและการผลิตแผ่นซีดีอีกด้วย ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนถึงการเกิด Dematerialization จากทั้งการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เคยรุ่งเรืองสมัยก่อนซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการที่มีทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสาขาหรือจำนวนพนักงาน ถูกธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันและแย่งส่วนแบ่งตลาดไป อีกตัวอย่างที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน การรณรงค์ลด/เลิก ใช้วัสดุที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เช่น การรณรงค์ลดการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เปลี่ยนไปใช้ถุงผ้ามากขึ้นก็เป็นการร่วมมือกันเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล เปลี่ยน หรือในช่วงที่ผ่านมาเราจะสังเกตุได้ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปนั้นไม่มีพลาสติกหุ้มฝา (Cap Seal) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศและ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในระดับโลก การเข้ามาของเศรษฐกิจยุค Dematerialization นั้น แม้ในทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นการใช้ทรัพยากรน้อยลงและยังสนองความต้องการของมนุษย์ได้ดีขึ้นหรือเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่อีกด้านนึงก็หมายความว่า ที่ดินซึ่งเป็นสานที่สำหรับการประกอบกิจการร้านค้าหรือที่เก็บสินค้าที่เคยมีอยู่เดิมนั้น มีความต้องการใช้น้อยลงและอาจส่งผลให้ราคาลดลงได้ หรือการที่ผู้คนไม่นิยมเสพสื่อดั้งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และทีวี โดยหันมาดูผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นก็ทำให้อุตสาหกรรมกระดาษ โรงพิมพ์และช่องทีวีได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานด้วย และถึงแม้ว่าจะมีอุตสาหกรรมใหม่ที่มาทดแทนเกิดขึ้น แต่การใช้ทรัพยากรน้อยลงทั้ง ที่ดิน จำนวนแรงงานและความต้องการทักษะที่แตกต่างออกไปยังคงเป็นความท้าทายสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าแนวโน้มโลกในอนาคตนอกจาก Aging Society ที่มีประชากรเกิดใหม่น้อยลงและการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถบริโภค Content หรือใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลาแล้วนั้น การเข้ามาของ Dematerialization นี้ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากการใช้ทรัพยากรน้อยลง มีการผลิตของน้อยลงและการจ้างงานลดลง ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวถึงนั้นเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในหลายยุคสมัย และเราก็ยังมองว่ายังคงมีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป สำหรับนักลงทุนแล้วเราสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเช่นกลุ่ม อุตสาหกรรมพลาสติก บริษัทที่ผลิตสื่อรูปและเทคโนโลยีรูปแบบเก่า แต่เลือกลงทุนในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่ได้รับผลกระทบ โดยอาจลงทุนโดยตรงในหุ้น กองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ตัวอย่างเช่น กลุ่ม Cloud Storage กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นไฟฟ้าและประปาหรือผู้ให้บริการ Internet ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในเศรษฐกิจยุค Dematerialization ได้เช่นกันครับ
แท็ก Investment  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ