กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบกรณีการจัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเตรียมความพร้อมการรองรับคุณภาพซ้ำ (Re-Accredit) พบมีพฤติการณ์ไปในทางทุจริต เบิกจ่ายเงินโดยมิชอบ ทำให้ราชการได้รับความเสียหายเป็นเงินกว่า ๑.๘ แสนบาท พร้อมส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางอาญา ทางละเมิด และทางวินัยกับผู้กระทำความผิดต่อไป
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ สตง. ได้ตรวจสอบเรื่องการจัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมการรองรับคุณภาพซ้ำ (Re-Accredit) ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็นในด้านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดและให้บุคลากรตระหนักถึงความสำคัญของการให้บริการ บทบาทหน้าที่ และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรี มีแผนยุทธศาสตร์ด้านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐ โดยกำหนดดำเนินโครงการ จำนวน ๒ รุ่น งบประมาณ ๑๘๒,๐๐๐.๐๐ บาท ซึ่งถูกตั้งประเด็นข้อสงสัยว่า ดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบ กฎหมายหรือไม่ จากการตรวจสอบของ สตง. สามารถสรุปผลการตรวจสอบได้ดังนี้
- สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำยุทธศาสตร์สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมความพร้อม
- การรองรับคุณภาพซ้ำ (Re-Accredit) โดยมีกำหนดการดำเนินโครงการจำนวน ๒ รุ่น รุ่นที่ ๑ วันที่ ๒๑ - ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ และรุ่นที่ ๒ วันที่ ๔ - ๕ กันยายน ๒๕๕๗ ณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยในช่วงเวลาดังกล่าวคณะวิทยากรไม่ได้เดินทางไปบรรยายให้ความรู้และไม่มีการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการประชุม
- เชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แต่อย่างใด แต่เป็นการให้ผู้เข้าร่วมโครงการเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการจัดทำเอกสารเพื่อส่งใช้เงินยืม รวมใบสำคัญจำนวน ๒๖ ฉบับ เป็นเงิน ๑๘๒,๐๐๐.๐๐ บาท โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ลงลายมือชื่อตรวจรับในใบสำคัญไว้เป็นหลักฐานทุกฉบับ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการเงินและบัญชีได้ลงนามท้ายบันทึกข้อความส่งใช้เงินยืมดังกล่าวว่าตรวจสอบแล้ว และได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยไม่มีผู้ทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งที่ทราบว่ารายการค่าใช้จ่ายบางรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง อาทิ ใบสำคัญรับเงินค่าตอบแทนวิทยากร ซึ่งวิทยากรไม่ได้เดินทางไปบรรยายให้ความรู้และไม่ได้ดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนด เป็นต้น
- การส่งใช้เงินยืมดังกล่าว จึงเป็นการจัดทำเอกสารหลักฐานส่งใช้เงินยืมอันเป็นเท็จ อีกทั้ง
- การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการเบิกเงินโดยไม่มีสิทธิ ทำให้ราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๑๘๒,๐๐๐.๐๐ บาท และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต สตง. จึงได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางอาญา ทางละเมิด และทางวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้กระทำความผิด ตามนัยมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้ สตง.ทราบ ต่อไป
โดยล่าสุด สตง. ได้รับแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยและทางละเมิดเรียบร้อยแล้ว กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นว่าการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการเบิกโดยไม่มีสิทธิและเป็นการเบิกจ่ายจากการทำเอกสารหลักฐานเท็จทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐด้วยความจงใจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน ๘ ราย ซึ่งมีส่วนรู้เห็นจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนให้แก่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในส่วนของความผิดทางวินัย กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน ๖ รายแล้ว สำหรับกรณีความผิดทางอาญา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๓ (จังหวัดนครปฐม) ได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
"จากผลการตรวจสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสามารถนำเงินแผ่นดินคืนจากผู้กระทำการทุจริตและมีการลงโทษทางวินัยกับผู้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ อีกทั้งยังเป็นการป้องปรามมิให้เกิดการกระทำความผิดในกรณีเดียวกันนี้อีก" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกล่าว