กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ผศ.ดร.วัฒนา แก้วมณี ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยี ไทย – ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า ทางสถาบัน ฯ ขานรับนโยบายโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่เดินหน้าเต็มพิกัดตามที่รัฐบาลมีนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีสาระส่วนหนึ่งในการเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยการสร้างและส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีและใช้องค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้คือเราจำเป็นจะต้องพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพขั้นสูงทั้งในด้านทักษะปฏิบัติและองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อเข้าไปทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการพัฒนาในระยะยาว คือ การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตซึ่งอาจต้องใช้เวลาสัก 3 - 5 ปี ในการรอบัณฑิตจบการศึกษาและเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนในระยะกลางและระยะสั้นซึ่งจะเห็นผลได้เร็ว ซึ่งเป็นแนวทางที่สถาบันฯ เลือกใช้ คือ การนำกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมมาฝึกอบรมแบบเข้มข้น "เพื่อให้เกิดทักษะใหม่หรือที่เรียกว่า การ Reskill"
ปัจจุบันสถาบัน ฯ ได้รับอนุญาตให้เป็นหน่วยฝึกอบรม (Authorized Training Body) ของสถาบันการเชื่อมแห่งประเทศไทย (Welding Institute of Thailand: WIT) ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสถาบัน การเชื่อมสากล (International Institute of Welding: IIW) ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศ 60 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิก ทำให้สถาบัน ฯ ได้รับการรับรอง สามารถดำเนินการฝึกอบรมตามหลักสูตรมาตรฐานสากล ที่กำหนด ฉะนั้นผู้เข้ารับการอบรมและสอบผ่านตามเกณฑ์จะได้รับใบ certificate หรือที่เราเรียกใบ Diploma ที่สามารถนำไปใช้ได้ใน 60 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา เป็นต้น เมื่อพิจารณาเรื่องงานเชื่อมแล้วบุคคลทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่าเข้ากับอุตสาหกรรมใด ๆ แต่จริง ๆ แล้วงานเชื่อมเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมแทบทุกชนิด เช่น ในชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ โครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น แท่นขุดเจาะแก๊สธรรมชาติ โครงสร้างอาคาร ขบวนรถไฟ รางรถไฟ ชิ้นส่วนอากาศยาน การต่อเรือ การเชื่อมขนาดเล็กโดยการใช้เลเซอร์ การเชื่อมถังอุปกรณ์ภาชนะรับแรงดัน ซึ่งจะเห็นว่าการเชื่อมเป็นรากฐานสำคัญในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ซึ่งเราใช้ความเชี่ยวชาญตรงนี้ ในการเสนอหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สถาบัน ฯ ได้ดำเนินโครงการมาเป็นรุ่นที่ 3 จำนวน 60 คน ผู้เข้าอบรมส่วนมากมาจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้ทักษะและองค์ความรู้ด้านงานเชื่อมในการทำงาน
การอบรมแต่ละหลักสูตรมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามมาตรฐานของสถาบันการเชื่อมสากล รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ไม่ต้องการเป็นหลักสูตรที่สั้นมาก ต้องเป็นหลักสูตรที่มีระยะเวลาฝึกฝนพอสมควร วิทยากรที่เชิญมาบรรยายจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มีทั้งอาจารย์ที่สอนในภาคทฤษฎี ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นวิทยากร เพื่อให้แน่ใจว่าองค์ความรู้ที่ให้ไปสอดคล้องกับงานในภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ มีการฝึกนอกสถานที่และการดูงาน การจัดหลักสูตรของบัณฑิตพันธุ์ใหม่จะสอดรับกับพันธกิจของสถาบัน ฯ คือ ต้องการผลิตกำลังพลเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมผ่านการฝึกอบรม ส่วนในกรณีที่มีนักศึกษาสนใจที่จะมีอาชีพเป็นวิศวกรการเชื่อมซึ่งเป็นสาขาอาชีพที่ขาดแคลนและมีค่าตอบแทนสูงสามารถพิจารณาหลักสูตรต่าง ๆ ของภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (วทอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เช่นหลักสูตรวิศวกรรมการเชื่อม ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรแบบให้ใบปริญญา
โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของสถาบัน ฯ สามารถจัดการศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ฯ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ แตกต่างไปจากการเรียนการสอนทั่วไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติ มีความร่วมมือกับภาคเอกชน และต้องมีมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เป็นหลักสูตรพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (ปี 2561-2565) หลักสูตรที่ทางสถาบัน ฯ ร่วมโครงการในการผลิต "บัณฑิตพันธุ์ใหม่" ยังมุ่งเน้นการยกระดับสมรรถนะตามแนวทางของโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบาย
การปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย "ผศ.ดร.วัฒนา" ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยี ไทย – ฝรั่งเศส กล่าว
สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยี ไทย - ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 02 555-2000 ต่อ 2501, 2502