กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ธนาคารกรุงไทย
ผลประกอบการธนาคารกรุงไทยไตรมาส 3 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,355 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายการพิเศษเกิดขึ้นจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในไตรมาสนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และสำหรับช่วง 9 เดือน ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 21,825 ล้านบาท โดยมีรายการพิเศษเกี่ยวกับสำรองการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์พนักงาน แม้ว่ามีรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองในไตรมาส 1/2562 หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิ 9 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 NIM ที่ไม่รวมรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองในไตรมาส 1/2562 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 Coverage Ratio ของงบการเงินรวม ณ 30 กันยายน 2562 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 128.07 จากสิ้นปี 2561
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2562 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,355 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.9 จากรายการพิเศษค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์พนักงานที่ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินตอบแทนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลบังคับใช้ในไตรมาสนี้ จำนวน 2,374 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ธนาคารมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 94,029 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อภาครัฐ รวมทั้งกำไรจากเงินลงทุน
ช่วง 9 เดือนของปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิเท่ากับ 21,825 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.3 หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิ 9 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ NIM ที่ไม่รวมรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองในไตรมาส 1/2562 เท่ากับร้อยละ 3.14 เทียบกับร้อยละ 3.11 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย แม้ยังคงได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัล และมีค่าธรรมเนียม Bancassurance ที่ลดลง
นายผยง ศรีวณิช กล่าวต่อไปว่า ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ของงบการเงินรวม ณ 30 กันยายน 2562 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 128.07 จากร้อยละ 125.74 ณ 31 ธันวาคม 2561 มี NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 4.58 และมี NPLs Ratio-Net อยู่ที่ 1.92 ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) เท่ากับร้อยละ 14.54 และ ร้อยละ 19.63 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย