กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--โฟร์ พี แอดส์ (96)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สด และที่ผ่านมากรมมีการประสานงานกับเครือข่ายหลายแห่ง เพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหาร เช่น Thai-PAN ซึ่งการดำเนินงานห้องปฏิบัติการของกรมและห้องปฏิบัติการที่ Thai- PAN ส่งตรวจมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรองระดับสากลระหว่างประเทศ ILAC (International Laboratory Accreditation Cooperation) เช่นเดียวกัน ทำให้การดำเนินงานมีความคลอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำทุกปี ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ประเภทสารกำจัดแมลง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ ผักพื้นบ้าน จาก 5 ภูมิภาค 10 จังหวัด และผลการตรวจวิเคราะห์อ้างอิงเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างและมาตรฐานสากล (CODEX) ผลการตรวจวิเคราะห์ในสารเคมี 3 ชนิด คือ สารไกลโฟเสต สารคลอร์ไพรีฟอส และสารพาราควอต ได้ผลดังนี้ สารคลอร์ไพรีฟอส มีการตรวจในผักผลไม้ 240 ตัวอย่าง เก็บจากตลาดสด 10 ตลาดจากจังหวัดราชบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา ตรัง เชียงใหม่ พิษณุโลก ผลการตรวจผัก 160 ตัวอย่าง ตรวจพบสารตกค้างร้อยละ 16.9 เกินมาตรฐานร้อยละ 13.8 ชนิดผักที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ ใบบัวบก ผักชี/ผักชีฝรั่ง ถัวฝักยาว มะเขือยาว/มะเขือเปราะ สะระแหน่ ผักแพรวและคะน้า ส่วนผลไม้ 80 ตัวอย่าง พบการตกค้างร้อยละ 6.2 สารไกลโฟเสต จากมีกระแสข่าวการใช้สารไกลโฟเสตในนาข้าว ซึ่งอาจพบการตกค้าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้สุ่มตัวอย่างน้ำจากแหล่งเพาะปลูกนาข้าว สวนผัก จำนวน 10 ตัวอย่าง ตรวจพบ 1 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นน้ำจากนาข้าว ปริมาณที่พบ 2.8 ไมโครกรัมต่อลิตรที่จังหวัดราชบุรี และสารพาราควอต เก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจาก 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา ตรัง เชียงใหม่ พิษณุโลก ผลการตรวจผัก 128 ตัวอย่าง ตรวจพบร้อยละ 26.6 เกินมาตรฐานร้อยละ 6.3 ชนิดผักที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ คะน้า กะหล่ำ ผักหวาน ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู ส่วนผลไม้สด 40 ตัวอย่าง พบการตกค้างร้อยละ 12.5 เกินมาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 5 ผลไม้ที่ตรวจพบได้แก่ ส้ม
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ เครือข่ายหลายแห่งเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหาร และ Thai-PAN ได้ประสานงานกันในเรื่องเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากรมและ Thai-PAN มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยห้องปฏิบัติการที่ Thai-PAN ส่งตัวอย่างตรวจเป็นห้องปฏิบัติการที่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ชื่อบริษัท Concept Life Sciences ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก United Kingdom Accreditation Service : UKAS เป็นหน่วยรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการของสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรองระดับสากลระหว่างประเทศ ILAC (International Laboratory Accreditation Cooperation) เช่นเดียวกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" นายแพทย์โอภาส กล่าว