กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำระบบการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการแบบครบวงจรเป็นต้นแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำฟาร์มกุ้งสู่ความยั่งยืนทั่วโลก เพื่อมุ่งบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในปี 2555 การระบาดของอาการกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศผู้เลี้ยงกุ้งและเกษตรกรในหลายประเทศ นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำฟาร์มกุ้ง รวมถึงธุรกิจฟาร์มกุ้งของ ซีพีเอฟ ในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
ซีพีเอฟ ได้ให้ทุนกับห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยอริโซน่า เพื่อหาต้นเหตุของโรค EMS และแนวทางป้องกันโรค ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทฯยังได้พัฒนาบ่ออนุบาลลูกกุ้ง และปรับปรุงการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันกุ้งจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จากธรรมชาติ
จากการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯค้นพบแนวทางทางชีวภาพและสามารถพัฒนาสายพันธุ์กุ้งใหม่ที่มีพันธุกรรมต้านทานโรคสูง กุ้งแข็งแรง ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการปรับรูปแบบการทำฟาร์มกุ้งและบ่อเลี้ยงใหม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงและการสูญเสีย
มร.โรบินส์ แมคอินทอช รองประธานกรรมการบริหาร – สายการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบครบวงจรซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงปัจจัยการทำฟาร์มที่สำคัญได้อย่างครบถ้วน เช่น บ่ออนุบาลพ่อแม่พันธุ์กุ้ง บ่ออนุบาลกุ้งตัวอ่อนและลูกกุ้ง ตลอดจนเทคโนโลยีในการทำฟาร์มจนเข้าสู่กระบวนการผลิต ส่งผลดีต่อเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต
"เราพูดได้ว่า ซีพีเอฟ เป็นบริษัทเดียวในโลกที่ตอบสนองเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ครบวงจร ทำให้เกษตรกรและบริษัทฯสามารถตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่การผลิตได้ เราไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบัน เราเป็นผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ดีที่สุดในโลก" มร.โรบินส์ ย้ำ
มร.โรบินส์ กล่าวต่อไปว่า จุดแข็งของธุรกิจกุ้งของ ซีพีเอฟ เกิดจาก 4 ปัจจัยสนับสนุน คือ
1. สายพันธุ์กุ้งต้านทานโรคสูงโดยเฉพาะเชื้อไวรัสทอร่า (Taura Virus) อาการติดเชื้อ EMS และโรคไวรัสจุดขาว (White Spot Virus) นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้แนะนำวิธีการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมปลอดเชื้อให้เกษตรกรในเอเซีย ทั้งยังประยุกต์เทคนิคการผสมพันธุ์กุ้งเพื่อเพิ่มอัตราการโตของกุ้ง กุ้งมีความแข็งแรงต้านทานโรคหลักที่เกิดกับกุ้งได้สำเร็จ ลดความสูญเสียของเกษตรกรและฟาร์ม
2. การพัฒนาบ่ออนุบาลสำหรับกุ้งช่วงอายุต่างๆ ให้มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในเอเซียเติบโตสูงสุดระหว่างปี 2547-2554 และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในช่วงต่อมาโดยเริ่มจากตัวอ่อนกุ้งที่แข็งแรงจากสายพันธุ์ที่ดี โตเร็วและอัตรารอดสูงในบ่อเลี้ยงตามธรรมชาติ
3. การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน ปัจจุบันอาหารกุ้งของ ซีพีเอฟ ไม่ใช้ปลาป่นที่ได้จากการจับจากทะเลแต่ใช้ปลาป่นที่มาจากผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบอาหารกุ้งที่มาจากการจัดหาและแหล่งผลิตที่ได้รับรองความยั่งยืนเท่านั้น ซึ่งยังคงสนับสนุนให้กุ้งแข็งแรงดีและโตเร็ว
สุดท้าย ซีพีเอฟ ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงระบบการเลี้ยงกุ้งแบบชีวภาพเพื่อป้องกันโรคต่างๆจากธรรมชาติ เช่น EMS โรคไมโครสปอริเดีย (Enterocytozoon hepatopenaei : EHP) และโรคไวรัสจุดขาว (White Spot Syndrome Virus) สำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้มีหลักการเดียวกับระบบเพาะเลี้ยงสัตว์ในระบบน้ำหมุนเวียน (recirculating aquaculture systems : RAS) ควบคู่กับการบริหารจัดการฟาร์มขนาดเล็ก ระบบ RAS เป็นระบบที่นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้น้ำ ที่สำคัญยังเป็นเทคโนโลยีที่ดักจับของเสียจากกุ้งไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในบ่อเลี้ยง ช่วยลดเสี่ยงจากการติดโรคได้ดี
ผลจากการดำเนินงานตามปัจจัยทั้ง 4 ข้อ จากบ่อเลี้ยงที่มีขนาดเล็กลงทำให้ควบคุมพื้นที่ได้ดีขึ้นขณะเดียวกันมีน้ำสะอาดตลอดเวลาทำให้ได้ผลผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น ซึ่งเป็นการผสมผสานกับพันธุ์กุ้งโตเร็วของ ซีพีเอฟ ที่ให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งดีกว่าและผลผลิตดีกว่าการเลี้ยงแบบดั้งเดิมถึง 25 เท่า
การเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีและการเลี้ยงแบบผสมผสานแบบครบวงจร ของ ซีพีเอฟ หรือที่เรียกว่า "เทคนิค 3 สะอาด" เป็นการให้ความสำคัญกับความสะอาดในการเตรียมบ่อกุ้ง ลูกกุ้งสะอาด และน้ำสะอาด ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคนิค 3 สะอาด ควบคู่กับการเลี้ยงแบบชีวภาพ หรือ ซีพีเอฟ คอมบายด์ โมเดล (CPF Combined Model)ให้เหมาะกับการเลี้ยงกุ้งในประเทศอินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
"เมื่อปี 2529 ซีพีเอฟ เป็นผู้นำในปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งเพื่ออนาคตในรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลให้กุ้งเป็นอาหารที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ในราคาเหมาะสม และเป็นอีกครั้งที่บริษัทฯเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการทำฟาร์มกุ้งทุกๆแห่งทั่วโลกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" มร.โรบินส์ กล่าวย้ำ
ปัจจุบัน การทำฟาร์มกุ้งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นับวันจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากคุณภาพน้ำไม่ดีเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ส่งผลกระทบต่ออนาคตของธุรกิจการเลี้ยงกุ้ง ในขณะที่อเมริกายังมีที่ดินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ทำให้เห็นแนวโน้มธุรกิจการเลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯ จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งในระบบน้ำหมุนเวียน (RAS) เพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งที่สหรัฐฯในพื้นที่ที่อยู่ไกลจากมหาสมุทรและในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกุ้งครบวงจร (สายพันธุ์กุ้ง ตัวอ่อน ลูกกุ้ง อาหารกุ้ง การบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนการเป็นผู้นำธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งในสหรัฐฯได้เป็นอย่างดีในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งฟาร์มเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำทะเลแต่อยู่ได้ด้วยระบบน้ำแบบหมุนเวียน และไม่มีการปล่อยของเสียหรือขยะสู่สิ่งแวดล้อม
"ซีพีเอฟ คาดว่าจะเป็นผู้นำการเลี้ยงกุ้งของโลกในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีของเราถูกพัฒนาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับทุกประเทศในโลกนี้" มร.โรบินส์ กล่าว