พัฒนาวิธีตรวจหาสายพันธุ์ไข้เลือดออก จุดเริ่มต้นการพัฒนาวัคซีน

ข่าวทั่วไป Thursday May 12, 2005 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สกว.
เด็กที่ได้รับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ต่างไปจากที่ได้รับครั้งแรก ส่วนหนึ่งจะป่วยเป็นไข้เลือดออก แต่การจะรู้ว่าเด็กคนนั้นได้รับเชื้อสายพันธุ์ใด ทำได้ยากมาก นักศึกษา คปก. ใช้เทคนิคใหม่ในการวิเคราะห์สายพันธุ์เชื้อไข้เลือดออก ที่รู้ผลใน 12 ชั่วโมง
การได้รับเชื้อไข้เลือดออกเข้าสู่ร่างกายเป็นครั้งที่ 2 (ทุติยภูมิ) ของ ดช. ภูมิภัทร ผลสมบูรณ์โชค และนำมาซึ่งอาการป่วยอย่างรุนแรง จนเสียชีวิตในที่สุดนั้น ได้ทำให้ประชาชทั่วไปได้ทราบว่า อาการป่วยอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นกับน้องภูมินั้น มิได้มาจากเชื้อโดยตรง หากแต่เป็นอาการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเชื้อที่ได้รับในครั้งแรก
นพ. ยง ภู่วรวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่วว่า เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Dengue virus ในปัจจุบันมีอยู่ 4 สายพันธุ์คือ Dengue ชนิดที่ 1-4 ในประเทศไทยพบได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยการระบาดของแต่ละสายพันธุ์จากหมุนเวียกันไป อย่างเช่นสายพันธุ์ที่พบในการระบาดเมื่อ 2 ปีก่อน (2546) ในประเทศไทยที่พบบ่อยจากการตรวจพบในห้องปฏิบัติการของจุฬาฯ เป็นสายพันธุ์ที่ 1
“ในเด็กส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อไข้เลือดออกเข้าสู่ร่างการครั้งแรก รวมถึงได้รับครั้งที่ 2 ที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก มักจะไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีเด็กจำนวนหนึ่งที่การได้รับเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าทุติยภูมิ ด้วยสายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากครั้งที่ 1 นี้ จะทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การระบาดของเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 3 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว ที่ทำใหมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก”
ดังนั้น หากสามารถระบุถึงการระบาดของไข้เลือดออกที่เกิดขึ้น ว่าเป็นการระบาดของเชื้อเด็งกี่สายพันธุ์ใดแล้ว เราก็จะมีข้อมูลเชิงระบาดวิทยา ที่จะสามารถนำมาใช้ในการเตรียมการป้องกันความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น แต่ปัญหาก็คือ การจะระบุว่าผู้ป่วยคนนั้น ๆ ได้รับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใด เป็นเรื่องที่ยากมาก
“การตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัสไข้เลือดออกสในปัจจุบัจ จะศึกษาจากสารพันธุกรรม ซึ่งจะมีข้อจำกัดอยู่ที่การทำการแยกตัวไวรัสไข้เลือดออกที่ได้จากผู้ป่วย จะต้องใช้เลือดผู้ป่วยหลังจากมีไข้แล้ว 1-2 วัน เพราะถ้านานเกินกว่า 2 วันแล้วอัตราการที่จะแยกตัวไวรัส Dengue ได้จะลดลงอย่างมาก เช่นในวันที่ 4-5 หลังจากมีไข้หรือ shock แล้วจะตรวจพบไวรัสได้ในอัตราที่ต่ำมากหรือตรวจไม่พบเลย”
คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยการแยกสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้เลือดออก โดยใช้ RT-real time PCR โดยนางสาวสลิล ชุตินิมิตกุล โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นที่ปรึกษา
“ด้วยเทคนิค RT-real time PCR ซึ่งเทคนิคใหม่ในการตรวจหาเชื้อ ที่เรานำมาประยุกต์ใช้กับการหาสายพันธุ์ของไวรัสไข้เลืดออกนั้น ทำให้เราสามารถตรวจเชื้อและทราบผลได้อย่างรวดเร็ว รู้ผลภายใน 12 ชั่วโมง โดยผลงานวิจัยนี้กำลังจะลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Journal of Virological Methods ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ” ศ.นพ. ยงกล่าว
สำหรับรายละเอียดการตรวจแยกสายพันธุ์ไวรัสเลือดออก สามารถขอทราบได้จาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว. โทร. 0-2619-9701--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ