PwC แนะผู้ประกอบการเตรียมรับมือกฎหมายสกัดการโอนกำไรผ่านการตั้งราคาโอน - กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 21, 2019 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--PwC ประเทศไทย PwC ประเทศไทย แนะผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกฎระเบียบภาษีอากร ภายหลังที่รัฐได้มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันการตั้งราคาโอน ผลกระทบทางภาษีอากรที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ อีกทั้งการที่กรมสรรพากรหรือศาลฎีกาได้มีการวางแนวปฏิบัติหรือการตีความกฎหมายอันส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจจากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านภาษีมีความรัดกุมและสอดคล้องกับธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรประเมินภาษี นอกจากนี้ กฎหมายอื่น ๆ ที่ออกมาใหม่ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act หรือ PDPA) กฎหมายรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Law) และการบังคับใช้ของกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรยังถือเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการและอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้าง หากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand's Symposium 2019 ในหัวข้อ "ถึงเวลาเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและภาษีอากร" (A close look at recent legal and tax developments – it's time to act) ว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้สามารถรับมือกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบในปีหน้าหรือกฎหมายป้องกันการตั้งราคาโอน (Transfer Pricing Provisions) ที่ภาครัฐได้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 กรมสรรพากรได้ตั้งเป้าการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2.11 ล้านล้านบาท โดยจะนำรายได้ดังกล่าวไปใช้ในการรองรับการขยายการลงทุนในอนาคต ซึ่งตามแผนโรดแมประยะ 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น กรมสรรพากรเองในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษีได้วางเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทางด้านนโยบายผ่านการออกมาตรการทางภาษีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนต่าง ๆ และสร้างเสริมบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รวมถึงการจัดทำอนุสัญญา หรือแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับต่าง ๆ ในรูปแบบของการออกกฎหมายหรือระเบียบใหม่ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับแนวทางและการดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายของกรมสรรพากรนั้น การออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากที่สุด ได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตั้งราคาโอน โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและมูลค่าของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดและยื่นพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ประจำปีเพื่อที่กรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตรวจสอบผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญคือ การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำรายงานทางภาษีของผู้ประกอบการต่าง ๆ กล่าวคือ ผลกระทบต่อวิธีการรับรู้รายได้และรายจ่าย ซึ่งแม้ว่าในทางภาษีอากรยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนจากกรมสรรพากรในการออกกฎหมายมารองรับกับมาตรฐานการบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกทั้ง การบังคับใช้ของกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจกฎหมายใหม่ดังกล่าว หากมีการนำเข้าและส่งออกสินค้าเนื่องจากหลักเกณฑ์ กฎระเบียบต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรใช้ในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจและศึกษากฎหมายใหม่ ๆ เพื่อรับมือในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและประเมินภาษี "ผู้ประกอบการควรต้องศึกษาข้อกฎหมายใหม่ ๆ หรือที่กรมสรรพากรกำลังปรับปรุง รวมถึงข้อกฎหมายที่อยู่ระหว่างการบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อพิจารณาผลกระทบในทุก ๆ ด้านที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน นอกจากนี้ การศึกษาแนวทางการตีความใหม่ ๆ จากแนวคำวินิจฉัยกรมสรรพากรหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้เสียภาษีสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้ปฏิบัติตนเองได้อย่างถูกต้อง" นายสมบูรณ์ กล่าว นอกจากที่กล่าวไปข้างต้น กฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการในเวลานี้ ได้แก่ กฎหมายรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีสาระสำคัญในการให้ความคุ้มครองกับประชาชนที่อาจถูกเก็บข้อมูลส่วนตัวไปโดยไม่ได้ให้การยินยอมจากการใช้บริการหรือทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตจนนำมาซึ่งการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจากบุคคลอื่น โดยกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อหน่วยงาน หรือธุรกิจที่มีการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าเป็นจำนวนมากและให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง เช่น ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่า กฎหมาย PDPA จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ทำให้ในช่วงเวลาที่เหลือนี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งศึกษาและทำความเข้าใจข้อกฎหมาย รวมทั้งประเมินข้อมูลที่องค์กรจัดเก็บ และหาทางป้องกันตามแนวทางของกฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงทางแพ่งและอาญาที่อาจเกิดขึ้น หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่น "อย่างที่เราทราบดีว่าในปี 2563 มีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของข้อกฎหมาย ภาษี มาตรฐานการบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายใหม่ ๆ ที่จะออกมาและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมขององค์กรทั้งทางด้านบุคลากรและแผนกลยุทธ์จะมีความสำคัญอย่างมาก หากผู้ประกอบการท่านใดมีการบริหารจัดการด้านกฎหมายและภาษีอย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบ ซึ่งหากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงขององค์กรด้วย" นายสมบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ