กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ว่า เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงานและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต ดังนั้น การหมั่นสังเกตสัญญาณอาการและรู้เท่าทันโรคจะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธี ก่อนสายเกินไป อาจส่งผลเป็นโรคทางสมอง บางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้
นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือ ภาวะหนึ่งที่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนขาดแรงจูงใจ หดหู่ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ลามไปจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอกจากนี้ Burnout ยังเป็นภาวะที่ทำให้คนๆ นั้น สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ Burnout แบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.)ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง 2.) มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ 3.)ประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง คนไข้จะรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม รู้สึกว่าทำงานได้ไม่ดี ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่างหรือเป็นไปทางลบทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัจจัยสุ่มเสี่ยงที่บอกว่ากำลังเข้าสู่ภาวะ Burn out syndrome ได้เช่นกัน อาการ Burn out เบื้องต้นสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง เช่น หากรู้สึกว่าทำงานมากเกินไปควรหันมาให้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหารตามเวลา หาเวลาไปท่องเที่ยวพักผ่อน อาจสร้างตารางชีวิตประจำวันใหม่ให้มีความหลากหลายในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น แต่สิ่งที่ยากคือ ความร่วมมือในระดับองค์กร องค์กรต้องตระหนักว่า Burnout เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งคนทำงานและองค์กร การจัดการภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ไม่ทำงานหักโหมมากเกินไป ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้ หรือปรึกษาแพทย์
ในส่วนของโรคซึมเศร้า เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งมีองค์ประกอบทางชีววิทยาค่อนข้างมาก การให้ยาเป็นการปรับสมดุล แต่โรคซึมเศร้ามีจะโจมตีตัวตน ทำให้คนๆ นั้นรู้สึกไม่มีแรง ไม่อยากทำงาน รู้สึกไม่เป็นคนเดิม บางครั้งความยากไม่ได้อยู่ที่คนไข้แต่อยู่ที่สิ่งรอบข้างคนไข้ด้วย เช่น ญาติพี่น้อง สามี ภรรยา สิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ทำงาน เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้ามุมมองต่อโลกจะลบในทุกด้านที่ต้องใช้ความเข้าใจค่อนข้างมาก ความยากอีกเรื่องหนึ่งคือการตระหนักรู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว คนไข้ควรมาโรงพยาบาล มาพบแพทย์ มาค้นหาต้นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งต้องแก้ไปทีละจุด ต้องอาศัยความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ แต่ก็รักษาได้เช่นกัน
นพ.อโณทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวน 1 ใน 5 มีทุกข์ เป็นทุกข์ที่ส่งกระทบไปทั้งทางกายและทางจิตใจ บางคนไม่รู้ว่าจะต้องหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โรควิตกกังวล หรือคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น stroke(หลอดเลือดสมอง) อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง โรคปอด ลมชัก ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น คนไข้เหล่านี้อาจต้องเผชิญกับภาวะเครียดกับโรคที่เป็นอยู่ สิ่งสำคัญคือกำลังใจในการต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้น ศูนย์จิตรักษ์ รพ.กรุงเทพ มีกิจกรรมบำบัดเพื่อการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพจิต (Psychosocial Rehabilitation) ประกอบด้วยจิตบำบัดหลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบรายกลุ่มและรายบุคคล โดยบุคลากรที่มีประสบการณ์ กิจกรรมถูกออกแบบให้ตรงกับความต้องการและความถนัดของแต่ละคน ตัวอย่างการทำกิจกรรมบำบัด อาทิ 1)อาหารบำบัด Cooking therapy เป็นการใช้ทักษะ สมาธิในแต่ละขั้นตอน ให้คนไข้อยู่กับตัวเอง และจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 2)การเคลื่อนไหวบำบัด Dance & Movement therapy 3)ดนตรีบำบัด music therapy 4)โยคะบำบัด Yoga therapy 5)ศิลปะบำบัด art therapy 6)ละครบำบัด Drama therapy การนำศาสตร์ของละครอาจเป็นบทบาทหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ มาทำความเข้าใจกับอารมณ์และความรู้สึก เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ เติมเต็มความสุข และหลายกิจกรรมยังช่วยให้ค้นหาศักยภาพและคุณค่าในตนเอง เพื่อการใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข โดยมีแพทย์และทีมสหวิชาชีพคอยดูแลการทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน อาทิ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต อ่อนแรง ไม่สามารถขยับหรือใช้งานร่างกายได้ดีเหมือนเดิม การทำกายภาพบำบัดและการกินยาเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรักษาอาการให้ดีขึ้นในระยะยาว คือทำอย่างไรให้คนไข้อยู่ได้กับตัวตนของเขาในแบบใหม่ การให้ยาอาจช่วยให้อาการทางกายไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่การที่คนไข้ไม่สามารถควบคุมแขนขาได้ดีเหมือนเดิม ฉะนั้นการรักษาทางใจควบคู่ไปกับทางกายจึงเป็นเรื่องสำคัญ การนำกิจกรรมเข้ามาบำบัด ทำให้คนไข้สามารถอยู่กับร่างกายตัวเองได้มากขึ้น ควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้มากขึ้น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคนหนึ่งอาจต้องการฟื้นฟูตนเองเพียงขอแค่ตักอาหารรับประทานเองให้ได้เป็นอันดับแรก การทำกิจกรรมบำบัดต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดก็สามารถช่วยให้คนไข้เริ่มที่จะตักอาหารรับประทานเองได้ เพียงเท่านี้ก็เป็นเหมือนความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่คนไข้สามารถทำได้ หรือคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคอาจยังไม่หาย แต่ทำอย่างไรให้คนไข้อยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข ไม่เครียด ให้เข้าใจมากขึ้น คนที่เป็นมะเร็งจะมีความเจ็บปวดจากอาการของโรค อารมณ์ไม่ค่อยดี อาการเหล่านี้เป็นความเจ็บที่เรื้อรัง การให้คนไข้มาอยู่ในพื้นที่บำบัด เช่น Cooking therapy ได้มาทำกับข้าว อบขนม กับญาติที่ดูแลหรือคนใกล้ชิด จากเดิมที่อาจทะเลาะกัน กลายเป็นว่าคนไข้สามารถที่จะใช้เวลาในพื้นที่บำบัด 1-2 ชม.ตรงนั้นในการทำขนม ได้มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าไปพะวงกับความเจ็บปวดจากอาการของโรคที่เป็นอยู่ ก็ช่วยให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นระหว่างทำกิจกรรม ซึ่งความรู้สึกดีๆ ตรงนั้นมีค่ามาก และคนไข้เองก็สามารถที่จะหยิบเอาความรู้สึกดีๆ นั้นนำกลับไปใช้ต่อที่บ้านได้ เป็นการเยียวยาสภาพจิตใจได้อีกทางหนึ่ง