กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
โรงสีข้าวสหกรณ์ยกพาเหรด ขึ้นแท่นผู้นำด้านการผลิตข้าวสารคุณภาพ "เกรดพรีเมียม" พร้อมยก "สหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ " เป็นสหกรณ์ต้นแบบโรงสีข้าวขนาดกลางผลิตข้าวสาร Q หนุนสมาชิกปลูกข้าวระบบ GAP มีกำลังผลิต 400ตัน/ปี เพิ่มมูลค่า-ยกระดับรายได้สมาชิก พร้อมหนุนคนไทยบริโภคสินค้าปลอดภัย
นางกิตติวรรณ เผ่าพันธุ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผย ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ได้รับการยอมรับให้เป็น "ต้นแบบโรงสีข้าวขนาดกลางผลิตข้าวสาร Q" ตามการพัฒนาระบบการผลิตข้าวคุณภาพตาม มกษ. 4000-2560 ภายใต้นโยบายแปลงใหญ่และข้าวครบวงจร ปี 2559 - 2561 จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ พร้อมได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทั้งขนาดบรรจุขนาด 5 กก. ขนาด 1 กก. ขนาด 500 กรัม และขนาด 250 กรัม ภายใต้แบรนด์ "ข้าวสาร Q"
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากโรงสีของสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ มีขบวนการผลิตข้าวสารมาตรฐานครบวงจร ตั้งแต่ขบวนการผลิตระดับแปลงนาผ่านการรับรอง GAP ระดับโรงสีผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP ไม่ปะปนข้าวเปลือกทั่วไป และข้าวสารต้องผ่านการคัดแยกเมล็ดเหลือง เมล็ดหัก และเมล็ดเสียตามมาตรฐานส่งออก ไปจนถึงระดับโรงคัดบรรจุสินค้าข้าวที่ได้รับการรองรับมาตรฐานสินค้าภายใต้สัญลักษณ์ Q ที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยในการบริโภคและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
นางกิตติวรรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ เป็นผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุงเพียงแห่งเดียวใน จ.ศรีสะเกษ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวสาร Q ของ มกอช. โดยมีสมาชิกที่ปลูกข้าว จำนวน 2,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ 600 ไร่ มีสมาชิก นำร่องเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวสาร Q แล้ว จำนวน 36 ราย ใน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านโนนแสนสุข ตำบลสังเม็ก และหมู่บ้านจำนรรจ์ ตำบลกระแชง โดยมีกำลังผลิตข้าวสาร Q รวม 400 กว่าตัน/ปี โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรในการขายได้ราคาสูงกว่าข้าวสารทั่วไปถึง 14 บาท/กก.หรือขายได้ในราคา 50บาท/กก ในขณะที่ข้าวสารทั่วไปมีราคาอยู่ที่ 36 บาท/กก. เท่านั้น แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตยังน้อย จึงเน้นการขายเฉพาะช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ หรืองานประชาสัมพันธ์ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือหน่วยงานจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรคุณภาพเท่านั้น
"เราต้องการผลักดันให้เป็นโครงการนำร่องใน 2พื้นที่ก่อน เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคเห็นถึงความสำคัญในการเลือกซื้อข้าวมาตรฐาน Q ที่มีความปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากขบวนการผลิตผ่านการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าว (GAP) ทุกแปลงปัจจุบัน ได้มีการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจำหน่ายให้กับเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดใกล้เคียง และจำหน่ายในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลปีใหม่ และการออกบูทแสดงสินค้าในงานโรดโชว์ต่าง ๆ ของหน่วยงาน" นางกิตติวรรณ กล่าว
ปัจจุบัน นอกจากสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จะได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ข้าว ประเภทหอมมะลิ มกษ.4000-2546 สินค้าข้าวสารจากมกอช. แล้ว ยังมีอีก 3 สหกรณ์ที่ได้รับการรับรองเช่นกัน คือ 1. สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด จ.เชียงราย มาตรฐานข้าวหอมมะลิ มกษ.4000-2546 ประเภทข้าวสาร ข้าวกล้อง 2. สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด ประเภทข้าวหอมมะลิไทย มกษ.4000-2546 ประเภทข้าวสาร ข้าวกล้อง และ 3. สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด ประเภทข้าวหอมมะลิ 4000-2546
นอกจากนี้ ยังมีโรงสีข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มกษ.4403-2553 อีก 6 แห่ง คือ 1.สหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรพลังสามัคคีสตรีลุ่มน้ำโขง จำกัด 4.สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด 5.สหกรณ์การเกษตรบรบือ จำกัด และ 6.สหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด และเตรียมจะยกระดับอีก 8 โรงสีสหกรณ์ ซึ่งล่าสุดมี 2 โรงสีอยู่ระหว่างยื่นคำขอ