กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
บีโอไอ เผยรองนายกรัฐมนตรีเตรียมนำคณะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ มณฑลกวางตุ้ง และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพบหารือกับบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ อุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม และ การพัฒนาบุคลากร พร้อมจัดงานสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ "Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC"
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม ถึง 25 ตุลาคม 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยนำหน่วยงานของภาครัฐไทยเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ มณฑลกวางตุ้ง และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะมีการพบหารือกับบริษัทชั้นนำของจีน เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งร่วมพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐไทยกับมณฑลกวางตุ้ง และบริษัท หัวเว่ย ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่จะพบหารือนั้นล้วนเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ อุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม และการพัฒนาบุคลากร
นอกจากนี้ คณะจะเข้าพบเพื่อหารือกับผู้บริหารของบริษัท หัวเว่ย ณ เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ที่มีศูนย์แสดงนวัตกรรมของบริษัท และในวันที่ 23 ตุลาคม 2562 บีโอไอจะจัดสัมมนาใหญ่"Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC" โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะกล่าวปาฐกถาพิเศษ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง จะบรรยายในหัวข้อ "Enhancing Thailand's Competitiveness-Improving Ease of Doing Business in Thailand" นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ จะบรรยายในหัวข้อ "Thailand Investment Year: Opportunities for Chinese Investors" นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จะร่วมบรรยายในหัวข้อ "Grand Strategy on the Belt and Road Initiative and the EEC" และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทยจะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยงานสัมมนาจะจัดขึ้น ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น เซินเจิ้น คาดว่า จะมีนักธุรกิจชั้นนำจากจีนเข้าร่วมประมาณ 500 ราย
"ประเทศไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นประตูสู่อาเซียน ที่สามารถเชื่อมโยงกับจีนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสมกับการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไออีกด้วย" นางสาวดวงใจกล่าว
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีน ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2561 มียอดรวมกว่า 1.12 แสนล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 นักลงทุนจากจีนมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 กว่า 5 เท่า