กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--เอไอเอส
เอไอเอส สานต่อภารกิจ "ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย" จับมือพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมใหญ่ "กรีน พหลโยธิน" ร่วมรณรงค์รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste จากหน่วยงานและประชาชนตลอดเส้นถนนพหลโยธิน สร้างโมเดลต้นแบบเมืองสีเขียว ที่สามารถคัดแยก และกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste ได้อย่างถูกวิธี พร้อมอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ พาวเวอร์แบงก์ สายชาร์จ หูฟังที่ไม่ใช้แล้ว มาทิ้งได้ที่ถังขยะ E-Waste ที่เอไอเอสช็อปและศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลทั่วประเทศ
"กรีน พหลโยธิน" เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับองค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บนถนนเส้นพหลโยธิน อาทิ สำนักงานเขตพญาไท, ททบ. 5, สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ, โรงพยาบาลพญาไท 2, บุญเติม, อาคารพหลโยธินเพลส, ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงไทย, ธ.กรุงศรี, ธ.กสิกรไทย, ธ.เกียรตินาคิน, ธ.ทหารไทย, ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.ธนชาต, ธ.ยูโอบี, ธ.ออมสิน, IBM, Exim Bank เพื่อจะร่วมกันรณรงค์ ผลักดันให้เกิดการคัดแยก และการทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยมี ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน นำโดย CEO-AIS นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ พร้อมด้วย 2 พรีเซนเตอร์สุดฮอต มิว นิษฐา และ ทอม อิศรา ร่วมเดินรณรงค์ให้ความรู้ และรับขยะ E-Waste จากประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตพญาไท เป็นกำลังสำคัญในเครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้
นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าส่วนงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวถึงกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ว่า "ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่นอกจากจะมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยทุกเจเนอเรชันแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ (Stakeholder) รวมถึงการร่วมดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้พัฒนาและเติบโตไปพร้อมๆ กัน ในปีนี้เอไอเอสจึงได้ประกาศภารกิจ Mission Green 2020 ที่มีเป้าหมายในการดูแลและเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste จากทั่วประเทศจำนวนกว่า 1 แสนชิ้น เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมทั้งสิ้น 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่คนทั่วทั้งโลกให้การตระหนักถึง และพยายามหาทางแก้ไข เนื่องจากขยะประเภทนี้ หากไม่ได้กำจัดหรือทำลายอย่างถูกวิธี ก็จะก่อให้เกิดมลภาวะและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ดังนั้น เอไอเอส ในฐานะดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยตรง เราจึงมุ่งมั่นในการสร้างองค์ความรู้เรื่องขยะ E-Waste แก่คนไทย พร้อมอาสาเป็นตัวกลางในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยกระบวนการ Zero landfill (กระบวนการจัดการขยะ ทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีกครั้ง) ซึ่งเอไอเอสได้ตั้งจุดรับขยะ E-Waste ให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อาทิ AIS Shop ทั่วประเทศ และศูนย์การค้า CPN สามารถดูพื้นที่จุดรับขยะ E-Waste และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ewastethailand.com
ด้าน นายสินธุ์ชัย บุญปักษ์ ผู้อำนวยการเขตพญาไท กล่าวว่า "ในฐานะหน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองให้สดใส ประชาชนปลอดภัย เราเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งปัจจุบันนับได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัว และทุกคนก็ต่างผลิตขยะอันตรายเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรายงานในปี 2561 ของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า คนไทยทิ้งขยะอันตรายมากกว่า 638,000 ตัน ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 65% ในขณะที่ขยะทั้งหมดได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีเพียงไม่กี่ตันเท่านั้น ดังนั้นทางสำนักงานเขตจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่จะร่วมมือกับเอไอเอสและทุกภาคส่วนในการลุกขึ้นจัดการกับปัญหานี้ เพื่อจะพัฒนาเขตพญาไทให้เป็นต้นแบบเมืองสีเขียวที่สามารถจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธี ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"
"ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากองค์กร ประชาชน ในการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste เป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างพลังจากเครือข่ายในการบริหารจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตส่วนรวมของสังคม โดยในกรณีนี้เอไอเอสยินดีที่จะเป็นตัวกลางสร้างเครือข่าย ความร่วมมือที่ดีๆ แบบนี้ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อจะร่วมสร้างไทยให้เป็นประเทศที่สามารถกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธีและยั่งยืนต่อไป" นางสาวนัฐิยา กล่าวปิดท้าย