กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 'มะเร็ง' เป็นโรคที่ผู้ป่วยไทยมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดอันดับ 1 และเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ผู้คนหวาดกลัวมากที่สุด แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 70,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 รายเลยทีเดียว แม้คนไทยหลายคนอาจยังไม่รู้จักกับ 'มะเร็งศีรษะและลำคอ' มากนัก แต่ความจริงแล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือการติดนิสัยเคี้ยวหมากพลู ก็อาจก่อให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นกัน จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอรายใหม่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชนเพิ่มขึ้นทุกปี ในแต่ละปี มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้ สูงถึง 10,000 คนโดยประมาณ มะเร็งศีรษะและลำคอ สามารถเป็นได้มากถึง 30 ตำแหน่งบนอวัยวะต่างๆ บริเวณศีรษะและลำคอ บริเวณที่พบบ่อย 3 อันดับแรก ได้แก่
มะเร็งช่องปาก (Oral Cancer) เกิดขึ้นได้บริเวณริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก พื้นปาก และเพดานปาก โดย 90% ของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้เป็นผู้สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพบมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 15 เท่า ปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือ การระคายเคืองเรื้อรังจากฟันที่แหลมคม อาการหลักที่มักพบคือ เป็นตุ่มก้อนในปากที่โตขึ้นเรื่อยๆ แผลเรื้อรังบริเวณปาก ฟันโยกหรือฟันหลุดเพราะเนื้องอก มีก้อนโตขึ้นบริเวณคอ การเกิดฝ้าขาว ฝ้าแดงเรื้อรัง ทั้งนี้ จากสถิติมะเร็งไทยปี 2558 พบว่าในเพศชายเป็นมะเร็งชนิดนี้มากเป็นอันดับ 6 และพบในเพศหญิงเป็นอันดับ 10
มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer) พบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ เฉลี่ยอายุประมาณ 60-70 ปี ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาการที่สังเกตได้คือ เสียงเริ่มเปลี่ยนไป มีเสียงแหบเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก สำลักอาหาร หรือมีอาการเจ็บขณะกลืน มีเสียงดังขณะหายใจ หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง มีเสมหะปนเลือด และมีก้อนบริเวณคอหรือคอบวม
มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal cancer) พบมากที่สุดในกลุ่มคนเชื้อชาติจีน และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการที่สังเกตได้คือ หูอื้อหรือการได้ยินลดลง ส่วนมากมักเป็นที่หูเพียงข้างเดียว คัดแน่นจมูก มีเลือดกำเดาไหล ปวดศีรษะ ชาบริเวณหน้า มองเห็นภาพซ้อน และมีก้อนบริเวณคอ เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้ยังสามารถเกิดได้ในบริเวณอื่นๆ อีก ได้แก่ มะเร็งช่องลำคอ (Throat cancer) โดยอาการที่พบบ่อยคือ มีก้อนที่ลำคอ เสียงแหบเรื้อรัง หรือกลืนอาหารลำบาก มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary gland cancer) อาการหลักที่พบคือ มีก้อนหรือบวมที่กระดูกบริเวณขากรรไกร ภายในช่องปาก หรือลำคอ ชาบริเวณใบหน้า และรูปใบหน้าที่เริ่มบิดเบี้ยว และมะเร็งจมูกและไซนัส (Nose and sinus cancer) อาการจะคล้ายกับการเป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบแต่มักจะเป็นเรื้อรัง จมูกอุดตันเรื้อรังเพียงด้านเดียว เลือดกำเดาไหล การรับรู้กลิ่นลดลง และมีน้ำมูกไหลจากจมูกหรือไหลลงคอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเพศชายจะพบมะเร็งชนิดนี้มากที่สุดบริเวณช่องปาก ช่องจมูก และกล่องเสียง ส่วนเพศหญิงมักพบที่บริเวณต่อมไทรอยด์ และช่องปาก ตามลำดับ
นายแพทย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า "ในปัจจุบันมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ได้แก่ เครื่องมือหรือเทคนิคการผ่าตัด เครื่องมือทางรังสีรักษา และรวมถึงยาที่ใช้รักษาด้วย ซึ่งไม่ได้มีจำกัดเพียงแค่ยาเคมีบำบัดหรือการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) เท่านั้น แต่ยังมีการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) อีกด้วย โดยรูปแบบของการรักษานั้นจะขึ้นกับลักษณะเฉพาะของคนไข้ในแต่ละรายจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้น ลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ มีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาน้อยลง และส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ดังนั้นผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งศีรษะและลำคอ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และหมั่นคอยสังเกตตัวเอง หากเริ่มมีอาการที่ผิดปกติ แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ดูแลผู้ป่วยรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อรับการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุดต่อไป