กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นสถานที่ที่เด็กๆใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันเพื่อเรียนรู้ ทักษะที่จำเป็นต่างๆทางสังคม อารมณ์ สติปัญญา บทบาทของการใช้สื่อสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม พัฒนาด้านต่างๆ จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งของครูปฐมวัย ต้องได้รับการพัฒนา ยกระดับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ ตลอดจนทักษะและทัศนคติของครู ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกมิติของเด็กเล็ก ที่ช่วยสร้างภูมิดีให้กับเด็กปฐมวัย
ตามระเบียบงบประมาณ (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น.2561 : www.dla.go.th) เด็กๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับงบอุดหนุน รายการค่าสื่อการเรียน การสอน (รายหัว) คนละ 1,700 บาท ทุกปีจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่จัดสรรมาให้เป็นปีงบประมาณ โดยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดำเนินการจัดซื้อ จัดหาสื่อการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนการสอนของสถานศึกษา ข้อ 2.1 การจัดซื้อจัดหาสื่อการเรียนการสอน วัสดุการศึกษา และเครื่องเล่นพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งมีตัวอย่างรายการสื่อ/วัสดุที่ซื้อได้อย่างชัดเจน โดย พันธ์วิรา จินดาธรรม ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแรด จ.เชียงราย ได้ พูดถึงประเด็นนี้ว่า "ด้วยความที่ครูหวั่นเกรงว่าจะทำผิดระเบียบ บวกกับไม่สามารถตอบได้ว่าสิ่งที่จะซื้อนั้นส่งเสริมพัฒนาการด้านไหนของเด็ก หรือดีอย่างไรต่อเด็ก จึงไม่กล้าซื้ออะไรใหม่ๆ มักซื้อแต่ของเดิมๆเช่น ดินน้ำมัน สีเทียน ผลไม้จำลอง หรือสั่งซื้อตามตัวอย่างสื่อในแคตล๊อกสินค้าที่ร้านเครื่องเขียนต่างๆได้นำมาเสนอเท่านั้น เหล่านี้ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ในการใช้สื่อเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก จึงพบว่า กิจกรรมสำหรับเด็ก จึงเป็นกิจกรรมซ้ำๆ เช่น ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในเด็กๆ"
การสนับสนุน "โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ(สำนัก 5 ) แยกเป็น สองส่วนสำคัญ คือ 1) การสนับสนุนการดำเนินงานตาม โครงการ/กิจกรรม เช่น สำรวจข้อมูลสถานการณ์ การพัฒนาศักยภาพครู การจัดมุมการเล่นและพื้นที่กิจกรรมทางกาย ผลิตสื่อและดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก จัดมุมการอ่านในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การประเมินพฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก การจัดพื้นที่ในการทำกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์เชิงศิลปวัฒนธรรม และจัดประชุมเพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และ 2) การพัฒนาศักยภาพและถ่ายทอดความรู้จากทีมพัฒนาศักยภาพ ในเวทีติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหนุนเสริมศักยภาพฯลฯ
การเข้ามาหนุนเสริมนี้ ทำให้ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาเด็กผ่านกระบวนการใช้สื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านแนวคิดตามยุทธศาสตร์ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ด้วยกระบวนการสำคัญของ โครงการ คือ หาแนวร่วมสร้างคณะทำงาน จัดกระบวนการกิจกรรม และ สื่อสารสร้างการมีส่วนร่วม ทำให้ เกิดการสร้าง "เครือข่ายครูมหัศจรรย์" ทั่วประเทศไทย
โดยกระบวนการ 3 ดี ถือเป็นคำตอบสำคัญที่ช่วยเอื้อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของครูจากด้านใน ออกมาเป็นกระบวนการกิจกรรมที่ถ่ายทอดต่อไปยังเด็กๆ ในศูนย์ของตัวเอง ประเด็นนี้ จันทร์หล้า กุลสุทธิ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแม่เงิน จ.เชียงราย ได้กล่าวไว้ว่า สื่อดี คือ สื่อที่เด็กมีส่วนในการหามา มีส่วนร่วมผลิตขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ ทะนุถนอม โดยสรุปได้ว่าสื่อดีมีรอบๆตัวเพียงแต่ครูไม่เคยรู้มาก่อน เพิ่งมารู้เมื่อเข้าโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์แล้ว เช่น ใบไม้ ก็เอามาทำเป็นสัตว์ต่างๆได้ ไฟฉาย ก็เป็นสื่อ/อุปกรณ์ในการเล่านิทานเงาได้ หรือ เก้าอี้ตัวเดียวก็นำมาเป็นฉากโรงละครเล็กได้ ปลาดุกเป็นๆเอามาเลี้ยงเป็นสื่อสอนหน่วยสิ่งมีชีวิตได้ ทรายก็เป็นสื่อดีส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านสติปัญญาได้ โดยให้เด็กใช้นิ้วฝึกเขียนเส้นตามลีลามือ หรือเขียนพยัญชนะได้เป็นต้น
สมถวิล พิมพ์เหล็ก ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเม็งราย จ.เชียงราย กล่าวว่า "พื้นที่ดี คือ สิ่งจำเป็นที่ศูนย์เด็กเล็กควรสร้างขึ้นมา เพื่อให้ภูมิทัศน์ของศูนย์ดูสวยงาม มีประโยชน์ หรือทำให้สภาพแวดล้อมดูน่าอยู่ น่าเรียน เช่นทราย หญ้าคา ที่นำมาทำมุมทราย นำมาทำมุมคัดแยกขยะ สัตว์จำลองสวยๆให้เด็กสนใจอยากรู้ชื่อสัตว์ อยากเล่นน้ำ เล่นทรายเป็นต้น โดยสรุปพื้นที่ดี เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ หรือพื้นที่กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรตระหนักและสร้างขึ้นเยอะๆเพราะมีประโยชน์มากมายต่อการเรียนรู้ของเด็ก"
พันธ์วิรา จินดาธรรม ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแรด จ.เชียงราย กล่าวเพิ่มเติมถึง การสนับสนุนของ สสส. ต่อการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ว่า "การมีโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ เข้าไปสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่เพียงแต่เป็นการให้การสนับสนุนเพื่อดำเนินการในการผลิต จัดกิจกรรม สำหรับเด็กปฐมวัยเท่านั้น แต่กระบวนการของการหนุนเสริมความรู้ พัฒนาศักยภาพที่มาควบคู่กัน เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาศักยภาพครูสู่การพัฒนาศักยภาพเด็ก ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาทรัพยากรและการลงทุนด้านเด็กของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับครูที่จะสามารถประยุกต์แนวคิดไปต่อยอดกับงบประมาณรายหัวประจำปีของเด็ก การต่อยอดความคิดจากโครงการสู่ความยั่งยืนของแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นสิ่งหนึ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญและผนวกแนวคิดไปกับการสนับสนุนโครงการ เนื่องจากว่าโครงการมีลักษณะเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพ สร้างความรู้ สร้างโอกาส จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ตามพันธกิจของ สสส. ดังเช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแรด จ.เชียงราย ได้รับการสนับสนุนโครงการปี 2558 เมื่อโครงการปิดแล้ว องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแรด ได้จัดสรรงบประมาณให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หลายโครงการ เช่น 1. โครงการเด็กอัจฉริยะ เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตร ทำกิจกรรม ผลิตสื่อดี 2.โครงการศูนย์เด็กเล็กในฝัน สำหรับนำไปทำพื้นที่ดีหรือแหล่งเรียนรู้ได้แก่ การปลูกผัก การเลี้ยงกบ การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกดอกไม้ ทำบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น 3.โครงการเครือข่ายศพด. สำหรับให้ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการบริหารศูนย์ และผู้ปกครองได้ประชุม อบรม ศึกษาดูงาน (ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแรด.2559)
การสนับสนุนจาก สสส.ในโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้นสำคัญมากกับครูและเด็กๆ เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้ครูได้เข้าร่วมสัมมนาอบรมพัฒนาศักยภาพ ทำให้เด็กมีสื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี ในการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพและพัฒนาการที่ดี ครูมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ปกครองไว้วางใจที่นำบุตรหลานมาฝาก ผู้บริหารเห็นความสำคัญจำเป็น จนนำไปสู่การตั้งงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดูแลภายใต้แนวคิด 3 ดี ต่อไป ดังเช่น ผู้ปกครองของศูนย์ฯ บอกว่า กิจกรรมสอนเด็กทำอาหาร หรือทำขนมไทยๆ สามารถช่วยให้เด็กยอมทานผักได้มากขึ้น ทำให้เด็กลดการทานขนมกรุบกรอบได้ และจากการที่เด็กได้เล่นม้าก้านกล้วยที่ศูนย์ฯ ทำให้เด็กมาขอให้คุณตาช่วยทำให้เล่นเมื่อมาถึงบ้าน เห็นตา หลาน เล่นด้วยกันแล้วสุขใจ และยังประหยัดไม่ต้องซื้อของเล่นแพงๆให้ลูกบ่อยๆ เหมือนเช่นเคยอีก"
อย่างไรก็ตามการสนับสนุนของสสส. ยังส่งผลสำคัญยิ่งคือทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย มีความสุข มีเจตคติที่ดีต่อการมาเรียนรู้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ตามช่วงวัยของเด็กเล็ก ที่ส่งผลสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกมิติของเด็กปฐมวัย
โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
กลุ่ม wearehappy.องค์กรสาธารณประโยชน์