กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--สกสว.
นับวันการใช้ประโยชน์ทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งเป็นตัวเร่งการทำลายระบบสมุทรนิเวศ น่าสนใจว่าข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินว่าปี ค.ศ.2030 มูลค่าของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านตำแหน่ง จึงถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
เหตุนี้จึงมีการหยิบยกแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินขึ้นหารือบนเวทีระดับโลก เพื่อหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
สำหรับประเทศไทยนั้น รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว บอกว่า "แนวคิดเรื่อง "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทั้งหมด เนื่องจากแนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับแนวทางเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่มีการปรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยการผลักดันให้เกิด "เศรษฐกิจสีเขียว" จึงอาจกล่าวได้ว่า "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" เป็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้คำนึงถึงการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือระบบนิเวศทางทะเลให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน"
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณแนวชายฝั่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง ถูกตักตวงทรัพยากรจนเสื่อมโทรม ท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศที่ถดถอย การท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์สุดท้าย เป็นความหวังในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือการเปิดซิงอันซีนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลระบบนิเวศอย่างยิ่งยวด รศ.ดร.นิรมล จึงชวนตั้งคำถามความหมายของการท่องเที่ยวในนิยามใหม่ ที่มองลึกไปถึงทรัพยากรการท่องเที่ยว เพราะทุกทรัพยากรล้วนมีที่มาที่ไป กับการท่องเที่ยวแบบ "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" จากฐานโครงการวิจัย "ศึกษาแนวโน้มของการพัฒนาจังหวัดชายฝั่งทะเลของไทยเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ทั้งนี้ โดยอาศัยการสังเคราะห์เอกสาร รายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจ/กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย ศ.ดร.นิรมล บอกว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศไทย มีภาคการท่องเที่ยวและภาคการประมงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยมีจังหวัดปัตตานี สุราษฎร์ธานี ตรัง ระนอง สมุทรสาคร ตราด และจันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีการพึ่งพิงทรัพยากรประมงมากเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่การจัดลำดับจังหวัดที่สามารถสร้างรายได้จากผู้มาเยี่ยมเยือนจากมากไปหาน้อยไล่เรียงไปตามลำดับ พบว่ามากที่สุดคือ จังหวัดภูเก็ต รองลงมาเป็นชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา ตราด และพังงา
"จากการสัมภาษณ์เชิงลึกชุมชนและองค์กรรัฐในพื้นที่พบว่า แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินยังไม่เป็นที่รู้จัก การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีอุปสรรคที่สำคัญคือ ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การขาดการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินและการทำงานอย่างบูรณาการจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง"
รศ.ดร.นิรมล บอกว่า การพัฒนาจังหวัดไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จะต้องมาจากการเห็นพ้องร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคสังคม ภาคธุรกิจ และภาคชุมชน เช่น การจัดระเบียบด้านการท่องเที่ยวและการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรทางทะเลที่ต้องอาศัยความร่วมมือของชาวบ้านและธุรกิจบนเกาะ เจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจตราพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น นอกจากการทำฐานข้อมูลที่มีความละเอียดและเป็นระบบในระดับพื้นที่เพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุให้มีระบบเศรษฐศาสตร์และเครื่องมือทางการคลังที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน จึงเสนอให้มีการจัดเก็บ "ภาษีสิ่งแวดล้อม"
ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บ "ภาษีการท่องเที่ยว" ณ โรงแรมที่พัก เพื่อนำรายได้มาใช้ในการจัดการและบำรุงรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ท่องเที่ยว และมีการชดเชยความเดือดร้อนด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวสำหรับโรงแรมขนาดเล็กและการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งการปรับค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีความเปราะบางจากการเข้าไปรบกวนของนักท่องเที่ยว
การจัดเก็บ "ภาษีมลพิษทางน้ำจืดและน้ำทะเล" เนื่องจากปัจจุบันการควบคุมมลพิษทางน้ำของไทยใช้กฎหมายควบคุมโรงงานและสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้เกิดความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียให้ดีมากยิ่งขึ้น จึงควรมีการจัดเก็บภาษีมลพิษทางน้ำ โดยจัดเก็บเป็นอัตราต่อปริมาณมลพิษในน้ำที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งการจัดเก็บ "ภาษีถุงพลาสติกหูหิ้ว" ซึ่งปัจจุบันมีการใช้นโยบายนี้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงการลดการใช้ถุงพลาสติกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับรัฐเพื่อนำไปใช้ในกิจการด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
รศ.ดร.นิรมล บอกว่า เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจัดทำขึ้นควบคู่ไปกับส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารทรัพยากรชายฝั่งมากขึ้น การให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อมและภาษีท่องเที่ยว เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลในรูปแบบของการอนุรักษ์ร่วมเรียนรู้กับวิถีชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันจัดทำเป็นโฮมสเตย์
เมื่อเกิดการพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนก็จะเกิดความหวงแหน และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถทำธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน