กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--มหาวิทยาลัยพะเยา
มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ลงพื้นที่ชุมชน หมู่ที่ 5 บ้านแม่ต๋ำบุญโยง ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ภายใต้โครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ที่จัดให้มีการบริการวิชาการ รวมถึงการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน โดยผ่านกระบวนการ การให้ความรู้โดยนักวิจัย นิสิต เพื่อลงมาทำงานร่วมกับแกนนำด้านสุขภาพในชุมชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้ปณิธาน "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน" ทันตแพทย์ อุทัยวรรณ กาญจนกามล รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายวิจัยและกิจการพิเศษ กล่าวว่า "การสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน ถือเป็นการตอบโจทย์ของคณะทันตแพทยศาสตร์ นอกจากชุมชนจะได้มีสุขภาพภายในช่องปากที่ดีแล้ว การให้ความรู้โดยรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ โดยส่วนตัวของอาจารย์ มีความรู้ในเรื่องของ ค่าว ซึ่งเป็นศิลปะประเพณีการสื่อสารของทางล้านนา จึงนำมาผสมผสานกับเนื้อหา ที่จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพภายในช่องปากกับชุมชน ผ่านกระบวนการเล่าเรื่องให้เป็น ค่าว ออกมา ซึ่งผู้สูงอายุที่นี่ จึงให้ความสนใจ และเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มาให้ความรู้" นางสาวสุชาวลี ปันตัน นิสิตทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่5 กล่าวว่า "การได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน ถือเป็นสิ่งที่ดีในการทำงานร่วมกัน นอกจากจะได้เรียนทฤษฎีภายในห้องเรียนแล้ว การมาลงพื้นที่ปฏิบัติจริงกับคนในชุมชน จึงถือเป็นการฝึกการทำงานไปในตัว และ ยังได้รับความอบอุ่นจากทางครอบครัวในชุมชนที่เราได้ไปดูแลอีกด้วย" ซึ่งในกิจกรรมวันนี้ประกอบไปด้วย การตรวจสุขภาพภายในช่องปากเบื้องต้นให้กับผู้สูงอายุ โดยผ่านกระบวนการตรวจจากแกนนำด้านสุขภาพภายในชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้นำนิสิต พร้อมคณาจารย์ลงพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ให้กับแกนนำด้านสุขภาพของชุมชน โดยผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นในการบันทึกข้อมูลของผู้รับบริการ เพื่อให้ง่ายต่อการรักษา และ เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำยาสีฟันจากสมุนไพร การทำน้ำยาบ้วนปาก การทำแปรงสีฟัน และ การให้ความรู้ในเรื่องของสุขภาพภายในช่องปากเบื้องต้นอีกด้วย