มาตรการเชิงรุกป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Friday October 25, 2019 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ตามที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 310,678 ราย เสียชีวิต 22 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ เด็กเล็กและเด็กวัยเรียน จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ระยอง นครปฐม จันทบุรี และเชียงใหม่ นั้น สำนักอนามัย มีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ประกอบด้วย 1) ศูนย์บริการสาธารณสุขประชาสัมพันธ์การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ทำหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์โรคระบาดระบบทางเดินหายใจและมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครอง และนักเรียนในสถานศึกษา รวมถึงจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่ใช้สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจให้เพียงพอ 2) รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเฝ้าระวังและดูแลตนเองจากกลุ่มโรคที่พบบ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ปอดบวม จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางการดูแลตนเองจากกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และติดตามคำแนะนำจากสำนักอนามัยและหน่วยงานอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด 3) เฝ้าระวังการระบาดจากรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น 4) จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรคและภัยสุขภาพในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง และ 5) เตรียมเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจล ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและหน่วยงานต่าง ๆ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ มีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1) ศูนย์ประชาสัมพันธ์สำนักการแพทย์และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ทั้ง 11 แห่ง ประชาสัมพันธ์ข่าวสารการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยงที่จำเป็น ต้องได้รับวัคซีน ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ไตวาย เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ คนอ้วนน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 2) จัดสำรองเวชภัณฑ์และเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี สำหรับผู้ป่วย ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน แต่หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพสำนักการแพทย์ http://prmsd.msdbangkok.go.th/wordpress และ FB Fanpage : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ