กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กทม.
เดินหน้าดันนโยบายลดภาวะโลกร้อน Bangkok Green Agenda 2008 ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนดำเนินภารกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สู่กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว เตรียมจัดประชุมใหญ่ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม 10 ประเทศอาเซียน และ 4 ประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี กำหนดหารือรายละเอียดกรอบการจัดประชุม 18 มี.ค. นี้
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ณ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมจัดประชุมผลักดันแผนลดปัญหาภาวะโลกร้อน ว่า กรุงเทพมหานคร จะผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยกำหนดเป็นวาระกรุงเทพฯ (Green Agenda 2008) ให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปทั้งระบบอย่างจริงจัง สำหรับวาระกรุงเทพฯ Bangkok Green Agenda 2008 ในแนวทาง 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1. Green Society คือ การส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน การใช้จักรยานแทนรถยนต์ การเดินในระยะทางใกล้ๆ การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแทนการเดินทาง 2. Green Living การส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัย การปรับเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ 3. Green Generation การสร้างคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา 4. Green Zone การกำหนดพื้นที่สีเขียวที่มีการจัด การสิ่งแวดล้อมที่ดี และ 5. Green Economy การดึงภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดึงภาคีธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าต่างๆ เข้ามาสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้หารือกับUNEP และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ ด้านการลดภาวะโลกร้อนในระดับภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี โดยเชิญนายกเทศมนตรี และผู้นำเมืองต่างๆ ในอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมด้วยประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ตลอดจนองค์กรเอกชน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานระดับอาเซียน โดยนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนและก้าวไปสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียวอีกทั้งยังเป็นการขยายผลการประชุมระดับนโยบายในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกันโดยเบื้องต้นวันที่ 18 มี.ค. 51นี้ กรุงเทพมหานครจะได้เรียนเชิญเลขาธิการอาเซียน เอกอัครราชทูตประเทศอาเซียน และอีก 4 เมืองดังกล่าวประชุมกำหนดแนวทาง หัวข้อและวันเวลาสำหรับการประชุมอย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนี้ภายหลัง ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้นำคณะผู้บริหารไปนำเสนอถึงแนวทางลดโลกร้อนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในกรุงเทพฯ ให้แก่รัฐมนตรี และผู้แทนจากทั่วโลกรับทราบถึงตัวอย่างแนวคิดของกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นองค์กรบริหารงาน ระดับเมืองในการกำหนดแผนปฏิบัติการลดโลกร้อน ณ ราชรัฐโมนาโก นั้น ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของแหล่งทุนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ร่วมถึงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการที่จะขับเคลื่อนและร่วมมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความเห็นพ้องร่วมกัน ให้มีการยกระดับการรับรู้ และสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และเกิดความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น อีกประการหนึ่ง คือ ดึงการสนับสนุนทางด้านการเงินจากองค์กรภาคธุรกิจและสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งหลายประเทศใช้รูปแบบการลงทุนโดยไม่ต้องพึ่งพิงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพื่อให้การเดินหน้าจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้รับความร่วมมือและเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว