เอกรัฐฯ เดินหน้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ รุกขยายกิจการผลิตเซลส์แสงอาทิตย์เป็นเจ้าแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 24, 2005 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า พร้อมบริษัท เอกรัฐ โซล่าเซลส์ จำกัด (บริษัทย่อย) ผู้ประกอบธุรกิจประกอบแผงโซล่าร์เซลส์ เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศลุยขยายกิจการผลิตเซลส์แสงอาทิตย์ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นเจ้าแรก พร้อมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในเดือนกันยายนนี้
นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ประธานกรรมการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการรวบรวมเอกสารเพื่อทำการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าทำการซื้อขายได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2548
โดยการระดมทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์นำเงินไปลงทุนขยายกิจการผลิตเซลส์แสงอาทิตย์ และลงทุนในธุรกิจอื่นๆในอนาคต เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม นอกจากนั้นบริษัทฯจะนำเงินไปชำระเป็นทุนจดทะเบียนด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันเรายังต้องสั่งซื้อเซลส์แสงอาทิตย์จากต่างประเทศมาประกอบเป็นแผงโซล่าร์ แต่อีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า เราจะมีโรงงานผลิตเซลส์เอง โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะป้อนให้กับส่วนการประกอบแผงเซลส์ของเรา และอีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการขยายธุรกิจดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายการหาพลังงานอื่นทดแทนน้ำมัน”
สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลกำไรในปี 2547 ประมาณ 218 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2546 กว่า 300 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในปี 2547 บริษัทฯ ได้มีการปรับแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างการบริหารงานได้สำเร็จทำให้มีระดับภาระหนี้ลดลงและมีศักยภาพพอเพียงในการขยายกิจการ สำหรับผลประกอบการปี 2548 นี้ ตั้งเป้าว่าจะมีผลกำไรที่ประมาณ 180 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทำการลงนามในสัญญาว่าจ้างออกแบบโรงงานกับบริษัท M+W Sanders จากเยอรมนี และลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องจักรกับบริษัท เซ็นโตเทิร์ม โฟโตโวลแทอิคส์ ประเทศเยอรมนี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการลงทุนดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารทหารไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเซลส์แสงอาทิตย์เป็นรายแรกของประเทศไทยได้ภายในต้นปี 2550 โดยจะสามารถผลิตเซลส์ในระยะแรกได้ที่ 25 เมกะวัตต์ และจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปจนถึง 50 เมกะวัตต์
สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมด้านพลังงานของบริษัทฯมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ด้วยปัจจัยของความจำเป็นทางด้านพลังงานที่มีเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งมาตรการพลังงานทดแทน (Renewable Portfolio Standard : RPS) ที่ทางภาครัฐมีแผนกำหนดให้ผู้ประกอบการด้านพลังงาน นำพลังงานทดแทนที่ไม่ใช่น้ำมันมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตใหม่ รวมถึงการขยายตัวของโครงการต่างๆ จากภาครัฐ อาทิ โครงการโซล่าร์โฮมหรือโครงการติดตั้งไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล อีกทั้งภาพรวมของอุตสาหกรรมโซล่าร์เซลส์ที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากที่สุดในโลก ที่มีอัตราการเติบโตมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามมาตรการ RPS จากภาครัฐ ยังเป็นเพียงร่างมาตรการที่ยังไม่ได้นำออกมาบังคับใช้ แต่จากสถานการณ์ของพลังงานน้ำมันขาดแคลนในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการทางด้านพลังงานต่างพร้อมใจที่จะหันมาให้ใช้พลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ถือว่าเอกรัฐวิศวกรรมเป็นผู้ประกอบการลำดับต้นที่ได้มีการเตรียมการเรื่องดังกล่าวไว้บ้างแล้ว ทันทีที่มาตรการนี้ประกาศใช้ เชื่อมั่นว่า ตลาดของเราจะมีการเติบโตในทิศทางที่ดีกว่าที่กำลังการผลิตจะสนองความต้องการของตลาดได้
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ชัยวัฒน์ สิมะวัฒนา / จตุพล นาคนิ่ม
พรพรรณ ฉวีวรรณ
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส จำกัด (มหาชน)
โทร 0-2662-2266
www.124comm.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ