กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
ทียูเอฟ แจงผลประกอบการไตรมาส 4/2550 ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐโต 22% ขณะที่ยอดขายในรูปของเงินบาทก็เพิ่มขึ้นถึง 13% เช่นเดียวกัน แม้ต้องประสบกับปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ค่าเงินบาท ราคาวัตถุดิบปลาทูน่า และราคาน้ำมัน แสดงถึงความสามารถด้านการบริหารที่เป็นเยี่ยม ทำให้ยังสามารถเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก พร้อมมั่นใจปีนี้โตเพิ่มอีก 12%
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย ชี้แจงถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ประจำปี 2550 และภาพรวมผลการดำเนินงานประจำปี 2550 ว่า “ในไตรมาส 4 นี้บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 450.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ที่มียอดขายรูปเหรียญสหรัฐเท่ากับ 370.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้จากการขายในรูปของเงินบาทก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จาก 13,495.6 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 15,253.6 ล้านบาทในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้น 13% นอกจากนี้รายได้รวมก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จาก 13,572.6 ล้านบาท มาอยู่ที่ 15,388.1 ล้านบาทในปี 2550 โดยในไตรมาส 4 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 443 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 509.8 ล้านบาท หรือลดลง 13%
แต่อย่างไรก็ดี จากภาพรวมผลการดำเนินงานประจำปี 2550 นั้น บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 56,072.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 55,444.4 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ หลายประการตลอดปี 2550 แต่บริษัทก็ยังมีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้บริษัทสามารถทำรายได้จากการขาย รูปเงินเหรียญสหรัฐทั้งปีเท่ากับ 1,611.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 11% เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่เท่ากับ 1,457.2 ล้านเหรีญสหรัฐ และมีรายได้ในรูปของเงินบาททั้งปี เท่ากับ 55,507.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2549 ที่เท่ากับ 55,038.6 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 1,823.3 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,901.3 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.08 บาท ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ 2.18 บาท”
จากตัวเลขกำไรสุทธิที่ลดลงในไตรมาส 4 นั้น นายธีรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้นที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าเงินบาท ราคาวัตถุดิบปลาทูน่า และราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีผลต่อราคาแพจเกจจิ้ง ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบอื่นๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มาร์จิ้นของเราลดลง และเมื่อมองตัวเลขภาพรวมทั้งปี 2550 จะเห็นว่า กำไรสุทธิของบริษัทก็ลดลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นถึง 8.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะไม่ดีนัก แต่บริษัทยังมีความสามารถในการควบคุมต้นทุน ขณะเดียวกันก็ยังสามารถทำยอดขายให้เพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากขึ้นด้วย สืบเนื่องจากการที่บริษัทมีฐานการผลิตที่หลากหลาย สำหรับภาพรวมทั้งปีของบริษัทนั้น ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐและเงินบาทยังเพิ่มขึ้นที่ 11% และ 1% ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการขายโดยรวมทั้งปีก็เพิ่มขึ้น 3% ถือว่ายังอยู่ในอัตราที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ยอดขายรวมในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง และปลาหมึกแช่แข็ง ที่มียอดขายโตขึ้น 31% และ 19.5% ตามลำดับ”
สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในปี 2550 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีสัดส่วนการส่งออกถึง 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 20% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 9% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 8% อาหารกุ้ง 6% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 3% โดยตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เอเชีย อัฟริกา โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แคนาดา และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นจาก 10% ในปีก่อน เป็น 12% ในปี 2550
นอกจากนี้ นายธีรพงศ์ ยังกล่าวถึง แนวโน้มของการดำเนินงานในปี 2551 ว่า “บริษัทยังคงมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ยอดขายของบริษัทยังสามารถเติบโตได้อีก ถ้าดูจากตัวเลขผลประกอบการแล้วจะเห็นว่า ยอดขายยังเติบโตทั้งรูปเงินบาท และเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 12% เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น อาทิเช่น แนวโน้มราคาปลาทูน่า ขณะนี้ราคาปลา
เริ่มมีแนวโน้มอ่อนตัวลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าที่ผ่านๆ มา ซึ่งต้องยอมรับว่าการจับปลาทำได้ยากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เกิดจากแนวโน้มปลาจะหมดจากท้องทะเล แต่อย่างไรก็ตาม
บริษัทคาดว่า ราคาปลาน่าจะปรับตัวขึ้นๆ ลงๆ ตามสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ จากการที่สหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะปรับลดลงเช่นเดียวกัน แต่อาจจะไม่รวดเร็วเท่าในประเทศสหรัฐอเมริกา ตรงจุดนี้จะส่งผลให้ต้นทุนเรื่องดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลง ที่ผ่านมาบริษัทต้องเผชิญสภาวะการณ์ต่างๆ อันเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น ทำให้บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากปัจจัยภายนอก ทำให้บริษัทได้ดำเนินมาตราการที่รัดกุมด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านค่าเงิน ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก มีการประกันความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงิน ขณะเดียวกันก็มีมาตราการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าให้มากที่สุด สำหรับต้นทุนราคาปลาทูน่าที่สูงขึ้นนั้น บริษัทสามารถปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนได้ นอกจากนี้ จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทย — ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในปีนี้ก็น่าจะส่งผลดีกับบริษัทในสินค้ากุ้ง และทูน่า ทำให้บริษัทมั่นใจว่า บริษัทยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสม”
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
โทร: 02-2980027 ต่อ 675-678
โทรสาร: 02-2980024 ต่อ 679
อีเมล์: tufinbox@thaiunion.co.th