กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินผลกระทบสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยว่า จะกระทบกับกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในสัดส่วนที่สูงและจำนวนไม่น้อยจะเป็นกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SME ค่อนข้างมาก เกษตรกรและชาวประมงจะได้รับผลกระทบไปด้วย สินค้าครอบคลุมมากถึง 573 รายการตั้งแต่อาหารทะเลหลากชนิด ผักผลไม้ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักผลไม้ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์เครื่องครัว ไม้อัด ไม้แปรรูป เหล็กแผ่น สแตนเลส ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ จามชาม เป็นต้น สินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์หรือ ราว 39,650 ล้านบาท การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้อ้างเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงานของไทยยังไม่ได้มาตรฐานสากล หากทางการไทยมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศการตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้ควรเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ตาม การประชุมอาเซียนที่มีจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ย. ทางการไทยควรยื่นข้อเสนอไปยังผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯที่มาร่วมประชุมเพื่อให้สหรัฐฯทบทวนการตัดสิทธิจีเอสพีดังกล่าว รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเชิงรุกมากขึ้นและให้เท่าทันต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน หากเราใช้มาตรการต่างๆตามกฎหมายภายใน เป็นไปตามระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ และสอดคล้องบริบทของปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมของไทย ก็ต้องยืนยันหลักการไม่หวั่นวิตกต่อแรงกดดันจากการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติ กฎระเบียบโลกาภิวัตน์ถูกออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและบรรษัทข้ามชาติค่อนข้างมาก ระเบียบเหล่านี้กระตุ้นให้มีการแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติ เห็นได้จากความล่าช้าในการยกเลิกการใช้สารพิษหรือการเรียกร้องให้ทบทวนการยกเลิกสารพิษไกลโพเซต เงื่อนไขสิทธิประโยชน์การลงทุนของต่างชาติในอีอีซี ดูตัวอย่าง
รูปธรรมจากการลดภาษีจำนวนมาก การลดสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชน หรือ ความหละหลวมในการกำกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดทอนสิทธิแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ กระทำในนาม "การส่งเสริมการลงทุน" ให้กับบรรษัทข้ามชาตินั่นเอง
ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดจีเอสพี สินค้าจะมีราคาแพงขึ้นจากการถูกเก็บภาษีตามอัตราปรกติส่งผลต่อยอดขาย ฉะนั้นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ส่วนรัฐบาลต้องเดินหน้าเจรจาการเปิดตลาดและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆและสหรัฐอเมริกา
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวอีกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิ จีเอสพี หรือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดสิทธิจีเอสพีของอียูช่วงก่อนหน้านี้ก็ดี หรือ การตัดสิทธิจีเอสพีย่อมกระทบต่อภาคส่งออกไทยพอสมควรเพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและอียูเป็นตลาดหลักของไทย และ ไทยยังไม่มีการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐฯ จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอได้ ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพีไปญี่ปุ่นลดลง ผู้ส่งออกไทยหันไปใช้สิทธิจากข้อตกลงเอฟทีเอซึ่งได้ประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไปบางประเทศอย่างญี่ปุ่น ไทยได้รับประโยชน์จากหลายระบบ ได้รับประโยชน์จากระบบจีเอสพี ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น หรือ JTEPA ได้รับ
ประโยชน์จากข้อตกลง FTA อาเซียนญี่ปุ่น ในการส่งออกแต่ละครั้งใช้ได้สิทธิเดียวหรือเลือกระบบใดระบบหนึ่ง ฉะนั้นผู้ส่งออกควรเปรียบเทียบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ก่อนตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิใดในการส่งออก
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง ภาวะเงินบาทแข็งค่าที่จะซ้ำเติมภาคส่งออก ว่า ความมีอิสระและความโปร่งใสของการดำเนินนโยบายทางการเงินมีผลต่อประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมาก งานวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้นชี้ถึงความไม่สอดคล้องเชิงพลวัตของการดำเนินนโยบายทางการเงินเกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยในบางช่วงเวลา ผลการศึกษาของงานหลายชิ้นบ่งชี้อีกว่า กรณีของไทยนั้น การส่งผ่านนโยบายการเงินจะเกิดขึ้นผ่านช่องทางอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากึ่งหนึ่ง บทบาทของนโยบายการเงินต่อตัวแปรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การส่งออก การนำเข้า ดุลการค้า มีอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงสภาวะการส่งออกให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต้องเปลี่ยนระบบของนโยบายการเงิน ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบายการเงิน แต่ต้องตระหนักว่าเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน คือ การรักษาเสถียรภาพ นโยบายการเงินต้องไปช่วยรักษาลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนในระยะสั้น
นอกจากสถานการณ์ของภาคส่งออกในระยะหกเดือนข้างหน้าจะได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีแล้วอาจถูกซ้ำเติมจากการแข็งค่าของเงินบาทอันเป็นผลจากเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงินจากสภาพคล่องที่ยังคงล้นระบบการเงินโลกหลังจากธนาคารกลางหลายประเทศยังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ทางการเงินและลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ล่าสุด เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและนโยบายบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายและแรงกดดันมากขึ้นจากตลาดการเงินโลก การใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรด้วยการกำหนดระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทหรือเพดานการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินบาทโดยไม่มีธุรกรรมแท้จริงรองรับ หรือ การเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราด้วยการทำ Open Market Operation ซื้อดอลลาร์ ขายเงินจะไม่มีประสิทธิผลมากนักในสถานการณ์ขณะนี้ เพียงช่วยบรรเทาความผันผวนเท่านั้น แนวโน้มค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าแตะระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ได้ การแข็งค่าในระดับดังกล่าวจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก การจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม มีความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องนำผลการศึกษาเรื่องการนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งมาจัดตั้ง "กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ" ที่เคยทำไว้กลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ควรไปศึกษาและทบทวนดูว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการที่ใช้มา 22 ปีหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ยังสอดคล้องกับพลวัตเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและยังคงเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภายในและสถานะทางการเงินของประเทศในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ รวมทั้ง ควรไปศึกษาดูด้วยว่า ต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนของเงินสกุลหลักในทุนสำรองระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร การเลือกระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ พลวัตของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยตัวแปรเศรษฐกิจภายในของไทยในปัจจุบันและอนาคตมีความสำคัญ เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยเหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่เหมาะสมในปัจจุบันและอนาคตก็ได้