กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้สั่งการให้ สศก. วิเคราะห์และติดตามผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารจากกรณีสหรัฐอเมริกาแจ้งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีสินค้า (GSP) จากประเทศไทย โดย สศก. ยืนยันว่า สินค้าเกษตรและอาหารหลักของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมากนัก และได้มีการ teleconference กับอัคราชทูตฝ่ายการเกษตรไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO กรุงโรม พร้อมกับได้เชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา และ FAO เข้าพบภายในสัปดาห์หน้า
นายระพีภัทร์ เปิดเผยต่อไปว่า ในการตัดสิทธิ GSP ชั่วคราว ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ยังคงเป็นการตัดสิทธิของสินค้าเพียงบางรายการ โดยจะเห็นว่าจากการประกาศตัดสิทธิ GSP คราวนี้ 573 รายการ เป็นสินค้าเกษตร (ภายใต้พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24) จำนวน 157 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้า ผักแปรรูป ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ชาเขียว ขิงป่น หูฉลาม เส้นพาสต้า ผลไม้แปรรูป สำหรับกลุ่มประมงแปรรูปอื่นที่อาจจะถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ มิใช่กลุ่มพิกัดสินค้าประมงหลักที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา (ไม่ใช่สินค้ากุ้ง และปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งยังมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก) จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการดำเนินงานด้าน IUU ที่ประเทศไทยได้แสดงบทบาทนำในเรื่องการจัดการด้านประมงและต่อต้าน IUU ทั้งในประเทศและระดับโลก ตลอดจนได้รับการยกย่องจากเวทีสหประชาชาติ ให้เป็น Presidential case ในการแก้ไขปัญหา IUU เผยแพร่แนวปฏิบัติให้แก่ประเทศอื่นๆ ตามที่ รมว.กษ. ได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.กษ. เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอแนวทางดำเนินงานเรื่องความร่วมมือต่อต้านประมงผิดกฎหมายระหว่างอาเซียนและแปซิฟิก ครั้งที่ 1 ในช่วงการประชุม UN Summit ณ นครนิวยอร์ก โดยได้ผลักดันให้จัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) และการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย (ASEAN Network for combating IUU fishing) ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ในประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากการตัดสิทธิ GSP บางรายการอาจมีผลทำให้สินค้าเกษตรข้างต้นของไทยอาจจะได้รับผลกระทบด้านราคาขายที่สูงขึ้น เช่น สินค้าผลไม้แปรรูป (ซึ่งมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2561 ประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 4%-14%) และเส้นพาสต้า (ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในปี 2561 ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 6.4%)
อนึ่ง สหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศคืนสิทธิ GSP ให้ไทยบางรายการในคราวนี้เช่นกัน ซึ่งมีสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ 1) ดอกกล้วยไม้ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูงที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเพาะพันธุ์กล้วยไม้ใหม่เข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น และ 2) โกโก้ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ มีแผนผลักดันให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดสูง และประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการผลิตสินค้าดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ส่งเสริมพันธ์โกโก้ที่มีคุณภาพและขยายพื้นที่เพาะปลูกตามหลักตลาดนำการเกษตรของ รมว.กษ. เพื่อเร่งปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส
นายระพีภัทร์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หลักสิทธิ GSP ถือเป็น "การให้ฝ่ายเดียว" ของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนา/ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และเนื่องจากการยกระดับการพัฒนาของไทย จึงมีการทบทวนการให้สิทธิฯ ทั้งการทบทวนแบบรายสินค้า (พิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาด) และรายประเทศ (พิจารณาจากระดับการเปิดตลาดให้แก่สหรัฐอเมริกา การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ) ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นที่เชื่อถือของตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ จึงจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้ง ตนได้ขอให้แต่ละส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้กลไกที่มีอยู่ เช่น อัคราชทูตฝ่ายการเกษตรไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO ณ กรุงโรม ติดตามและประชุมหารือกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา อย่างใกล้ชิด พร้อมได้เชิญผู้แทนกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ประจำประเทศไทย เข้าหารือกับรักษาราชการเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในรายละเอียดภายในอาทิตย์หน้า เพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์