กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มนัญญา ยกอุทัยธานีเป็นเมืองหลวงด้านเกษตรอินทรีย์ ต้นแบบการทำเกษตรปลอดภัย เตรียมขยายพื้นที่ปลูกพืชผักคุณภาพ พร้อมขนผลผลิตเกษตรกรส่งมาจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ สั่งการกรมส่งเสริมสหกรณ์หามาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกต่ำให้สมาชิกสหกรณ์ลงทุนแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรปลอดสารเคมี
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีนโยบาย บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ในการขยายช่องทางตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและปลอดสารเคมีอันตราย กระจายไปสู่ผู้บริโภค โดยจะส่งจำหน่ายให้ทางโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีโอกาสได้เลือกซื้อและบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยได้อย่างมั่นใจและเชื่อมั่นในแหล่งผลิตและที่มาของสินค้าดังกล่าว เบื้องต้นจะใช้จังหวัดอุทัยธานีเป็นพื้นที่นำร่อง ในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรที่มีความพร้อม มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิถีการทำการเกษตร และยกระดับจังหวัดของตัวเองให้เป็นเมืองแห่งสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยจะให้ทุกฝ่าย มาร่วมมือกันทำ และส่งผลผลิตป้อนสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคปัจจุบันที่ใส่ใจในการดูแลและ รักสุขภาพกันมากขึ้น
" ต้องการให้อุทัยธานีเป็นจุดเริ่มทดลองทำโมเดลนำร่อง เพราะมีความพร้อมและทุกคนจะร่วมกันปฏิรูป บ้านตัวเอง ให้มีพื้นที่ ดิน น้ำ ผัก ปลาที่สะอาด ส่วนด้านตลาดจะเชื่อมโยงกับร้านค้าสหกรณ์ และตลาดโมเดิร์นเทรด ในกรุงเทพฯ ส่งสินค้าเกษตรปลอดภัยที่เกษตรกรผลิตได้ไปจำหน่ายและจะทำให้ติดตลาดให้ได้ และเนื่องจากแหล่งผลิตอยู่ใกล้กรุงเทพ จะทำให้ผักและผลไม้มีความสดใหม่ น่าจะเป็นที่พอใจของผู้บริโภค โดยจะมีการเปิดซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ไว้ร้องรับที่ร้านสหกรณ์พระนคร กรุงเทพฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ในวันที่ 30 ตุลาคม นี้ หากสำเร็จ จะขยายไปจังหวัดอื่น เริ่มแรกจะขอทดลองในจังหวัดเล็ก ๆ ก่อน เพราะวันนี้ประชาชนของอุทัยธานีมีความพร้อมที่จะร่วมมือกัน หากจังหวัดไหนต้องการ ก็พร้อมที่จะไปสนับสนุนต่อไป " รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯได้เตรียมมาตรการดูแลสมาชิกสหกรณ์ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรปลอดภัยเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน โดยการสนับสนุนเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี ให้สหกรณ์ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและนำไปปล่อยกู้ให้สมาชิกนำไปทำการเกษตร เช่น กู้ไปทำแหล่งน้ำ ปรับปรุงการผลิตปลูกพืชผักต่าง ๆ ส่วนในด้านการตลาด ขณะนี้ได้เตรียมตลาดรองรับผลผลิต โดยร่วมมือกับ ร้านสหกรณ์ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่ไว้สำหรับรองรับการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากจังหวัดอุทัยธานี และอีกหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำปาง อ่างทอง ส่งมาจำหน่ายนำร่องในกรุงเทพ ฯ เพราะปัจจุบันกระแสของผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น และต้องการสินค้าที่ปลอดภัย คุณภาพดี ราคาไม่แพง แต่หาได้ยากและบางจุดอาจไม่สด ดังนั้น หากตลาดจำหน่ายพืชผักปลอดภัยที่ร้านสหกรณ์ในกทม. ประสบความสำเร็จ จะขยายจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยในสหกรณ์เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก
สำหรับจังหวัดอุทัยธานี มีเกษตรกรปลูกพืชผักปลอดภัย 422 ราย 474 แปลง พื้นที่ 5,000 กว่าไร่ และมีสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ ใน 8 อำเภอ ที่ส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานอินทรีย์ ในกลุ่มข้าวอินทรีย์ 185 ราย รวม 2,000 กว่าไร่ มาตรฐานปลอดภัย 2,000 กว่าไร่ ด้านปศุสัตว์ปลอดภัย เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ 69 ราย 101 โรงเรือน ไก่ไข่ 2 ราย 4 โรงเรือน สุกร 20 ราย 35 โรงเรือน และยังมีสินค้าประมงปลอดภัยได้มาตรฐานจีเอพี โดยมีสหกรณ์ที่ส่งเสริมสมาชิกรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์และพืชผักปลอดภัยในจังหวัดอุทัยธานี 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด และสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด