กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม
รวมพลังศิษย์เก่า ม.ศรีปทุม จิตอาสาทำดี เพื่อหารายได้ช่วยเหลือสุนัขและแมวที่ถูกทอดทิ้งและทารุณกรรม ณ สถานสงเคราะห์บ้านนางฟ้าของสัตว์จร จ.สระบุรี
สุนัขและแมวจร(จัด) กลายเป็นปัญหาคู่สังคมไทยมานาน แม้ในปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามร่วมด้วยช่วยกัน ในการลดจำนวนประชากร หมาและแมวจร ด้วยการทำหมัน รวมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกผู้เลี้ยงให้มีความรับผิดชอบ ไม่ทิ้งขว้าง แต่สุดท้ายก็ยังพบเห็นการทิ้งสัตว์เลี้ยงไม่เว้นในแต่ละวัน
ปัญหาของการทิ้งสัตว์เลี้ยง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ความเสี่ยงของการเกกิดโรคร้ายจากสัตว์ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงหากไม่มีการควบคุมประชากรสัตว์เหล่านี้ ย่อมเกิดปัญหาหมาแมวจรเกิดขึ้นมากมาย ยิ่งช่วงหน้าร้อน หมาแมวจะอารมณ์หวุดหงิดง่าย หากมนุษย์เราไม่ระมัดระวังตัวเอง รวมทั้งดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์กัดหรือข่วนได้ และหากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ก็ยังต้องเสี่ยงอันตรายได้รับบาดเจ็บอยู่ดี
อย่างไรก็ดี ปัญหาของสัตว์เลี้ยงที่ถูกทิ้ง คงให้แค่หน่วยงานรัฐช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่ทุกคนควรมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเจ้าของ ต้องมีความรับผิดชอบ ในขณะที่ภาคองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งก็ช่วยเหลือในหลายพื้นที่
โดยเมื่อเร็วๆนี้ อาจารย์อาทิตย์ เสาธงใหญ่ ผู้อำนวยการศูนย์กิจกรรมพัฒนานักศึกษาและชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม นำทีมนักศึกษาศิษย์เก่าจิตอาสา คณะบริหารธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ คณะบัญชี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และกลุ่มอาสาปันสุข SPU ร่วมพลังจิตอาสาสร้างความดี ด้วยการจัดกิจกรรมหารายได้ เพื่อนำเงิน และสิ่งของ อาทิ อาหารสุนัข แมว นำไปสมทบทุนและมอบให้กับสถานสงเคราะห์บ้านนางฟ้าของสัตว์จร อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในการนำไปช่วยเหลือสัตว์ สุนัข และแมวที่ถูกทอดทิ้งและถูกทารุณกรรม จำนวนหลายพันตัวต่อไป
สำหรับสถานสงเคราะห์บ้านนางฟ้าของสัตว์จร ตั้งอยู่ที่ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมปศุสัตว์ที่ให้การช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดมาตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล ที่อำเภอบ้านกร่าง จ.นนทบุรี ต่อมาสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับประสบปัญหาอุทกภัยในปี 2554 จึงได้ย้ายสถานที่มายังสถานที่แห่งนี้มีบนเนื้อที่จำนวน 39 ไร่ ปัจจุบันมีสุนัขและแมวจร จำนวน 2,126 ตัว เป็นสุนัขเพศผู้ จำนวน 794 ตัว เพศเมีย จำนวน 1,032 ตัว แมวเพศผู้ จำนวน 101 ตัว และเพศเมีย จำนวน 199 ตัว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์จัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เข้าสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รักษาพยาบาลสัตว์ และทำการผ่าตัดทำหมันให้กับสัตว์