กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
โครงการ SIY เตรียมขยายผลสู่ปีที่ 3 หนุนสภาเด็กและเยาวชนพัฒนาท้องถิ่น เสนอภาครัฐปรับกลไกการทำงาน สร้างโอกาสการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการนี้มุ่งพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล/เทศบาล สร้างระบบนิเวศทางสังคมทีเอื้อต่อการพัฒนาและสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชน และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนสังคม
รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) และอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โครงการ "พัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน" หรือ "Social Innovation & Youth" (SIY) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นับเป็นอีกหนึ่งเวทีระดับประเทศ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนไทย มุ่งสร้างกลไกในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น รวมทั้งมุ่งพัฒนาให้เด็กและเยาวชนบทบาทในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและนโยบายท้องถิ่น ภายใต้หลักคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" โดยได้พัฒนาเด็กและเยาวชนพัฒนาผ่านรูปแบบการมีส่วนร่วม 4 รูปแบบ คือ 1. ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน 2. หลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน 3. ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น และ 4.กองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น
ซึ่งที่ผ่านมา สภาเด็กและเยาวชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำรูปแบบดังกล่าว ไปปรับใช้ในพื้นที่ตนเองถึง 34 พื้นที่ ดังต่อไปนี้
- ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน อาทิ สภาเด็กและเยาวชนตำบลเขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี ได้รวมตัวสำรวจปัญหาชุมชนพบมีขยะจำนวนมาก จึงทำโครงการ "ธนาคารขยะ" เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน และสภาเด็กและเยาวชนตำบลทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้สำรวจพบว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในชุมชนจำนวนมาก จึงได้ทำโครงการ "วัยใสใส่ใจสโตรก" โดยพัฒนาเครื่องมือช่วยจัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสโตรกในชุมชน
- หลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน อาทิ สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลคำม่วง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ หลักสูตร สำรวจความต้องการของเด็กและเยาวชน พบว่าต้องการเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้านประยุกต์กับดนตรีสมัยใหม่ จึงเปิดหลักสูตร "ดนตรีโปงลาง" สานต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่นกาฬสินธุ์ และสภาเด็กและเยาวชนตำบลพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์ สำรวจความต้องการของเด็กและเยาวชน พบความต้องการด้านไอทีและการเกษตร จึงได้เปิดหลักสูตร "เสริมทักษะด้านไอทีกับการเรียนรู้วิถีเกษตร" ยกระดับศักยภาพเยาวชนให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว รวมถึงมีพื้นฐานความรู้ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และสมุนไพรไล่แมลง
- ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น อาทิ สภาเด็กและเยาวชนตำบลดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้ออกแบบโครงการ "มหัศจรรย์หูช้างแปลงร่าง" เพื่ออนุรักษ์ขนมพื้นบ้านและสืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติคนบ้านดอน สภาเด็กและเยาวชนตำบลกะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้ทำโครงการ "ยาหม่องน้ำมันไพลสูตรโบราณ" บรรเทาปวดเมื่อย-คลายกล้ามเนื้อผู้สูงวัยในชุมชน และสภาเด็กและเยาวชนตำบลเขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ สำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนขาดทักษะว่ายน้ำ จึงพัฒนาโครงการ "ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย" ลดปัญหาการจมน้ำของเด็กในชุมชน
- กองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น จากสภาเด็กและเยาวชนตำบลวัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิต ซึ่งได้สำรวจพบว่ากล้วยในชุมชนมีราคาตกต่ำและเด็กเยาวชนต้องการมีรายได้เพิ่ม จึงได้จัดตั้ง "กองทุนคนรุ่นใหม่" โดยนำกล้วยในชุมชนมาแปรรูปเป็น "กล้วยอัดผง-ข้าวเกรียบกล้วย-กล้วยตาก" สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมส่งเสริมเยาวชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด
โดยล่าสุด โครงการ SIY ได้จัดมหกรรมแสดงผลงานตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY Expo) เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถแสดงออกถึงหลักคิด สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพ และได้ลงมือปฏิบัติตามแผนที่ริเริ่มด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเยาวชนที่ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศจาก องคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รางวัลสูงสุดอันดับ 1 คือ โครงการ "มหัศจรรย์หูช้างแปลงร่าง – สืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติคนบ้านดอน" ภายใต้โครงการศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่นของ อบต.ดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นการรู้รักษาคุณค่าและหวงแหนถึงรากเหง้าประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาท้องถิ่นของเยาวชน สู่การต่อยอดเป็นชุดความรู้ประวัติศาสตร์งานเทศน์มหาชาติ วีดิทัศน์ขั้นตอนการทำขนมหูช้าง และนิทานภาพมหัศจรรย์หูช้างแปลงร่าง
"สำหรับโครงการ SIY นับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้แนวคิดดังกล่าวให้เป็นจริงได้ และยังช่วยทำลายกำแพงอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำในสังคม เศรษฐกิจ และโอกาสด้านการศึกษา ที่ทำให้เด็กและเยาวชนในเมืองและในชนบท มีโอกาสและต้นทุนในชีวิตที่แตกต่างกัน ปีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ซึ่งทางโครงการพร้อมที่จะขยายผลและสานต่อเจตนารมณ์ โดยมีเด็กและท้องถิ่นทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผู้นำทางสังคมรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น"
อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการ SIY ในปี 2562 นี้ มีท้องถิ่นที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนรูปแบบการมีส่วนร่วมจำนวน 34 พื้นที่จากทั่วประเทศ จากที่วางเป้าหมาย 12 พื้นที่ ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้เกือบ 3 เท่า โดยในอนาคตตั้งเป้าให้ท้องถิ่นนำร่องกลายเป็นท้องถิ่นต้นแบบในการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่การยกระดับศักยภาพเยาวชนไทยในด้าน การพัฒนาตามแนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" ทุกพื้นที่ประเทศไทย รศ. ชานนท์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ มหกรรม SIY Expo ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมกองทัพอากาศ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ "SIYPROJECT" https://www.facebook.com/SIYPROJECT หรืออีเมล siy.innovation@gmail.com
รายชื่อ 34 พื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการ SIY แบ่งตามภูมิภาคดังนี้
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 พื้นที่ ได้แก่
- อบต. ดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
- อบต. สะสมใหม่พัฒนา อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
- อบต. หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์
- ทต. นาจะหลวย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
- อบต. แมด อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ
- ทต. กุดข้าวปุ้น อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี
- อบต. เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
- อบต. คำสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
- ทต. คำม่วง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
- ทต. อากาศอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร
- ทต. อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
- ทต. งิ้วด่อน อ.เมือง จ.สกลนคร
- ทต. บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น
- ภาคเหนือ 11 พื้นที่ ได้แก่
- ทต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่
- อบต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
- ทต.บ้านปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย
- ทต.สายน้ำคำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
- อบต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย
- ทต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
- ทต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย
- ทต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
- ทต.พุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
- อบต.เขาชนกัน อ.เขาขนกัน จ.นครสรรค์
- อบต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร
- ภาคกลาง 5 กลาง ได้แก่
- ทต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี
- ทต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท
- อบต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
- อบต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
- อบต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
- ภาคใต้ 5 พื้นที่ ได้แก่
- อบต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
- อบต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี
- อบต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
- อบต.ยะหา จ.ยะหา จ.ยะลา
- อบต.ละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา