กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ รวมถึงตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชันที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ ในวันที่ 30 ต.ค. 62 และจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศกัมพูชาในระยะต่อไป ทำให้มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในช่วงวันที่ 30 ต.ค. – 2 พ.ย. 62 ประกอบกับความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 29 – 31 ต.ค. 62 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง ในช่วง 1 – 2 วัน จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2562 แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง ได้แก่ ภาคเหนือ 15 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ และอุทัยธานี พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ ภาคใต้ 8 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่ ภาคใต้ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ตลอดจนขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป