กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ตลท.
ศิษย์เก่าสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) เสนอสูตรการพัฒนาตลาดทุนต่อรองนายกฯ และรมว.คลัง สรุปได้เป็น 3 แนวทาง 7 นโยบาย 17 มาตรการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางนโยบาย และชี้ทิศทางที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวของตลาดทุนเพื่ออนาคต เพื่อให้ตลาดทุนไทยพร้อมที่จะเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด” จัดโดยสมาคม นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (สวตท.) ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อนำเสนอ ข้อเสนอในการพัฒนาตลาดทุน ครอบคุลม 3 แนวทาง — 7 นโยบาย - 17 มาตรการ ต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นข้อสรุปหลังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยศิษย์เก่า วตท. รุ่นที่ 1 — 5 ซึ่งเป็นผู้บริหารจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกว่า 300 คน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ในฐานะนายกสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (สวตท.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอ โดยสวตท.ในวันนี้มีเป้าหมาย เพื่อให้ตลาดทุนเป็นแหล่งสะสมทุนทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการระดมเงินออม เพื่อสร้างทุนให้กับธุรกิจไทยอย่างเพียงพอ มีต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมสะท้อนสถานะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ ภายใต้ระบบบรรษัทภิบาลที่ดี อันจะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินของประเทศที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
“สวตท. เห็นว่า หากตลาดทุนไทยไม่ปรับตัว และไม่มีความร่วมมือกันในการพัฒนาตลาดทุน จะส่งผลให้มูลค่าเงินออมของคนไทยลดลง ทำให้ฐานะเศรษฐกิจของคนไทยลดลง รวมทั้ง ยังส่งผลให้ธุรกิจไทยมีต้นทุนการเงินที่สูง ทำให้การลงทุนระยะยาวทำได้ลำบาก ซึ่งจะมีผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สูญเสียธุรกิจให้กับประเทศอื่น และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด” นายปกรณ์กล่าว
สำหรับข้อเสนอในการพัฒนาตลาดทุน 3 แนวทาง — 7 นโยบาย - 17 มาตรการ ได้แก่ 1) การกำหนดวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย 2) การปรับตัวเพื่อสร้างตลาดทุนให้กับอนาคตภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงิน และ 3) การเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้กับประชาชน
แนวทางที่ 1 ด้านการกำหนดวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ประกอบด้วย 2 นโยบายหลัก จะเน้นการยกระดับตลาดทุนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยเสนอให้ยกระดับตลาดทุนให้เป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคร่วมนำเสนอมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเป็นคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อผลักดันวาระแห่งชาติในการพัฒนาตลาดทุนไทยในระยะยาว
แนวทางที่ 2 การปรับตัวเพื่อสร้างตลาดทุนให้กับอนาคตภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงิน ประกอบด้วย 3 นโยบายหลัก ได้แก่ การสนับสนุนนโยบายรัฐในการสร้างเงินออมและช่องทางการลงทุน ทั้งการสนับสนุนนโยบายการออมระยะยาวและการสร้างนักลงทุนสถาบันของไทย การสนับสนุนนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มีการระดมทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเพิ่มการจ้างงาน และสร้างโอกาสให้คนไทย
การสร้างความสามารถให้ตลาดทุนพร้อมรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ทางการเงิน ซึ่งเสนอให้สร้างความลึกให้ตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ และ ตลาดอนุพันธ์ ด้วยมาตรการต่าง ๆ การลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนเพื่อให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาค การพัฒนาคุณภาพของบุคคลกร และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน การสนับสนุนองค์กรแนวรุกในการไปลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการขยายการเชื่อมโยงระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน โดยใช้กลไกธนาคารพาณิชย์เป็นแรงผลัก (catalyst) ในการสร้างความเชื่อมโยง พร้อมทั้ง สร้างระบบบรรษัทภิบาลหรือ Corporate Governance (CG) ในระดับที่เหมาะสมกับบริษัททั้งในและนอกตลาด หลักทรัพย์ฯ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจสำหรับบริษัทจดทะเบียนให้เพียงพอ
การเตรียมตัวเพื่อการปรับรูปแบบการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ การศึกษาการปรับรูปแบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นเอกชน (Privatization) โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในด้านกฎหมายสำหรับการปรับรูปแบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้ง การวางแนวทางเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด หากต้องการกระจายหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ (Demutualization)
แนวทางที่ 3 การเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้กับประชาชน ประกอบด้วย 2 นโยบายหลัก ได้แก่ การรณรงค์ให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน การทำความเข้าใจผู้ที่มีส่วนร่วมนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นที่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ และนโยบายการสร้างความชัดเจนในด้านกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อถือ ซึ่งจะต้องมีการสร้างความชัดเจนในมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเข้าใจ และ เข้าร่วมในกระบวนการตั้งแต่แรก
เอกสารแนบ
ข้อเสนอในการพัฒนาตลาดทุน ครอบคุลม 3 แนวทาง — 7 นโยบาย - 17 มาตรการ
โดยสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน ณ 27 กุมภาพันธ์ 2551
แนวทางที่ 1 การกำหนดวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย (1-2-2)
1.1 ยกระดับตลาดทุนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
มาตรการที่ 1: ยกระดับตลาดทุนให้เป็นหน่วยงานที่ 5 ในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคเพิ่มเติมจาก 4 หน่วยงานหลักเดิม คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.2 จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเป็นคณะกรรมการระดับชาติ
มาตรการที่ 2: จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกรรมการระดับชาติ เพื่อให้การผลักดันวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยมี รองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยหวังผลการทำงานในระยะ 1 ปี
แนวทางที่ 2 การปรับตัวเพื่อสร้างตลาดทุนให้กับอนาคตภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ทางการเงิน (1-3-12)
2.1 สนับสนุนนโยบายรัฐในการสร้างเงินออมและช่องทางการลงทุน
มาตรการที่ 3: สนับสนุนนโยบายการออมระยะยาว และการสร้างนักลงทุนสถาบันของไทย โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) การให้ความสำคัญกับการลงทุนผ่านกองทุนเกษียณอายุในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับ RMF และ LTF ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี การส่งเสริมให้ลงทุนผ่านกองทุนรวม เพื่อการลงทุนของประชาชนจะได้มีการบริหารการลงทุนแบบมืออาชีพ
มาตรการที่ 4: สนับสนุนนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำรัฐวิสาหกิจเข้ากระจายทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นเรื่องปกติของประเทศที่ระบบการเงินก้าวเข้าสู่การพัฒนาอีกระดับหนึ่ง โดยเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจและการกระจายทุนให้กับคนไทย ทั้งนี้ เงื่อนไขและขั้นตอนการแปรรูปควรได้รับการปฎิบัติให้เกิดความโปร่งใส ไม่โอนอำนาจผูกขาดให้กับเอกชน
มาตรการที่ 5: สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ให้ระดมทุนในตลาดทุนไทยและจ้างงานธุรกิจไทย เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยและสร้างตลาดทุนให้แข็งแรง
2.2 สร้างความสามารถให้ตลาดทุนพร้อมรองรับกระแสโลกาภิวัฒน์ทางการเงิน
มาตรการที่ 6: สร้างความลึกให้ตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ และ ตลาดอนุพันธ์ ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันของไทย เพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียน การสร้างสภาพคล่องของพันธบัตรรัฐบาลอย่างเป็นระบบ ยกเลิกภาษีธุรกิจและภาษี Capital Gain ในตราสารหนี้เหมือนกับนานาประเทศ อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ซื้อขายในตราสารหนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่น ให้ตลาดตราสารหนี้เป็นทางเลือกของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยให้มี Non-investment grade เป็นทางเลือกในการลงทุน ให้มีการเพิ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาดอนุพันธ์ เพื่อสร้างเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงให้ครบถ้วน เทียบเคียงกับตลาดในภูมิภาค
มาตรการที่ 7: ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนเพื่อให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาค ซึ่งควรมีการศึกษาต้นทุนในตลาดหลักของภูมิภาค และวางแผนปรับต้นทุนเพื่อให้บริษัทไทย และผู้ลงทุนไทยโดยเร็ว
มาตรการที่ 8: พัฒนาคุณภาพของบุคคลกร และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ในอนาคตมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นต้องมาจากคุณภาพของบริการตลาดทุน จึงควรจัดให้มีการพัฒนาคุณภาพบุคคลากรในทุกระดับ ซึ่งรวมถึงผู้กำกับตรวจสอบสถาบัน ตัวกลาง บริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน
มาตรการที่ 9: สนับสนุนองค์กรแนวรุกในการไปลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ตลาดทุนจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการปรับการเคลื่อนย้ายทุนที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ และลดความกดดันต่อค่าเงินบาท จึงควรรณรงค์ให้เกิดกระแสการลงทุนใน ต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกที่สำคัญเช่น จัดตั้ง Thailand Investment Corporation เพื่อส่งเสริมการลงทุนข้ามชาติในตลาดทุนนานาชาติ พิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงให้เกิดความสะดวกในการนำทุนเข้าออก สร้างผู้บริหารกองทุนมืออาชีพที่มีความสามารถในการบริหารทุนข้ามชาติ และจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในกับผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการไปลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น
มาตรการที่ 10: ขยายการเชื่อมโยงระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน โดยใช้กลไกธนาคารพาณิชย์เป็นแรงผลัก (catalyst) ในการสร้างความเชื่อมโยง โดยต้องดูแลการกำกับธนาคารพาณิชย์ให้เป็น Consolidation และปรับปรุงระบบภาษีที่เกี่ยวกับการออม-การลงทุน เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน
มาตรการที่ 11: สร้างระบบบรรษัทภิบาลหรือ Corporate Governance (CG) ในระดับที่เหมาะสมกับบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยยกระดับ CG ของบริษัทที่อยู่ในตลาดที่ต่ำอยู่ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งผลักดันและเผยแพร่ให้ระบบ CG ที่ปฎิบัติโดยทั่วไป ไปใช้กับบริษัทนอกตลาด
มาตรการที่ 12: สร้างแรงจูงใจสำหรับบริษัทจดทะเบียนให้เพียงพอ โดยคงอัตราภาษีไว้ก่อน และให้มีการศึกษาต้นทุนที่ แท้จริงระหว่างบริษัทจดทะเบียน และบริษัททั่วไปให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล โดยเฉพาะสาธารณูปโภค เข้าจดทะเบียน
2.3 เตรียมตัวเพื่อการปรับรูปแบบตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Demutualization
มาตรการที่ 13: ศึกษาการปรับรูปแบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นเอกชน (Privatization) โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในด้านกฎหมายสำหรับการปรับรูปแบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
มาตรการที่ 14: วางแนวทางเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด หากต้องการกระจายหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ (Demutualization) โดยมีการศึกษาไตร่ตรอง ถึงรายละเอียด ผลได้-ผลเสีย และรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินการที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดในด้านต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ขัดแย้งกัน
แนวทางที่ 3 การเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้กับประชาชน (1-2-3)
3.1 การรณรงค์ให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
มาตรการที่ 15: รณรงค์ภายใต้กรอบ “ตลาดหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน” โดยการปลูกฝังใน โรงเรียน ครู-นักเรียน และ การทำความเข้าใจผู้ที่มีส่วนร่วมนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นที่เข้าใจของคนส่วนใหญ่
3.2 การสร้างความชัดเจนในด้านกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อถือ
มาตรการที่ 16: สร้างความชัดเจนในมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้นำเรื่องกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของ ประชาชนเช่นการสร้างราคา และภาษีในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อสร้างความชัดเจนและนำไปสู่การแก้ไขจุดอ่อนในอนาคต
มาตรการที่ 17: สร้างการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายใหม่ การแก้ไขพรบ.ทางการเงิน และทางธุรกิจ เช่น พรบ.ธุรกิจ ต่างด้าว มีส่วนกระทบกับการพัฒนาตลาดทุนผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีความเข้าใจ และเข้าร่วมในกระบวนการตั้งแต่แรก
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797