กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--อัคคีปราการ
AKP รับลูกอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เดินหน้ากำจัด/บำบัดของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ที่ตรวจพบสารปนเปื้อน ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ "วันชัย เหลืองวิริยะ" แม่ทัพใหญ่เผย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ ลั่น! พร้อมรับจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรมทุกรูปแบบเพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นายวันชัย เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) หรือ AKP ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม (เตาเผาขยะอุตสาหกรรม) บางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเตากำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย ด้วยวิธีการเผาด้วยความร้อนสูงที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้ากำจัด/บำบัดของเสียอุตสาหกรรมในโครงการ "ฟื้นฟูพื้นที่ลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมบริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16" ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากพบว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำมีสารโลหะปนเปื้อนไม่สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เข้าตรวจสอบอ่างเก็บน้ำดังกล่าว หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ รวมทั้งตรวจพบร่องรอยการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่ติดกับอ่างเก็บน้ำ จึงได้เก็บตัวอย่างทั้งน้ำและดินไปตรวจวิเคราะห์ ซึ่งปรากฏว่ามีความเป็นกรดสูงและมีค่าโลหะหนักปนเปื้อนหลายชนิด และปัจจุบันของเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ในพื้นที่ ยังไม่ได้รับการนำไปกำจัด/บำบัด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก
"อัคคีปราการ เป็นบริษัทที่มีความพร้อมด้านการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม เราภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมกำจัด/บำบัดของเสียอุตสาหกรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 และเรายืนยันว่าพร้อมที่จะจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรมทั้งมีพิษและไม่มีพิษทุกรูปแบบ เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม" นายวันชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมบริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 พบว่า ทำให้เกิดสภาพเป็นกรดและมีการปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งในดินและในน้ำ เช่น ทองแดง ตะกั่ว แมงกานิส สังกะสี ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีสภาพเน่าเสีย ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่ลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรมบริเวณดังกล่าว พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือดูแลชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ทั้งเดินหน้าให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการเรื่องการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง ที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย