“ปริศนาหญ้าทะเล”จุดเริ่มต้นการอนุรักษ์ทรัพยากรหญ้าทะเล...ของเยาวชนเกาะลิบงเพื่อพะยูนฝูงสุดท้าย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 30, 2019 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สกสว. "อยากให้พะยูนและหญ้าทะเลอยู่คู่กับเกาะลิบงตลอดไป เพราะหญ้าทะเลเป็นที่มาของความสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลไม่ใช่เพียงแค่พะยูน และยังเป็นแหล่งอาหารของคนบนเกาะลิบง ที่ชุมชนสามารถจับกุ้งจับหอยได้หน้าหาดโดยไม่ต้องซื้อหา" เกาะลิบง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่นี่เคยเป็นสถานที่อนุบาลดูแล"มาเรียม"พะยูนตัวน้อย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมีขนาดพื้นที่กว่า 12,000 ไร่จากพื้นที่ทะเลตรังทั้งหมด 21,000 ไร่ ซึ่งหญ้าทะเลในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 ชนิด พบที่จังหวัดตรัง 12 ชนิด และมีถึง 11 ชนิดพบเฉพาะที่เกาะลิบง โดยเฉพาะชนิดที่พะยูนชอบกิน คือ หญ้าทะเลใบมะขาม (หรือใบมะกรูด) สาหร่ายผมนาง และดอกหญ้าคาทะเล จึงเป็นเหตุผลให้มีพะยูนอยู่เป็นจำนวนมาก แม้เกาะลิบงจะเป็นพื้นที่ที่มีหญ้าทะเลมากที่สุดแต่กลับเป็นที่รู้จักน้อยมาก และส่วนใหญ่มักแยกไม่ถูกว่าหญ้าชนิดไหนชื่ออะไร จึงพูดเรียกรวมกันว่าหญ้าทะเล ประกอบกับเกิดปรากฏการณ์หญ้าทะเลตายเป็นจำนวนมากเมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา และกรณีการตายของมาเรียมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากบนเกาะลิบง จึงเป็นที่มาของโครงการ "ปริศนาหญ้าทะเล เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง" โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ขนิษฐา จุลบล (พี่นิด) จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า เกาะลิบงเป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเลมากที่สุด ทำให้มีพะยูนเข้ามากินหญ้ามากที่สุด ถือเป็นจุดเด่นของเกาะ หญ้าทะเลเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมีคุณค่า เป็นที่มาของอาชีพ รายได้ อาหารและสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ถือเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญ ถ้าเมื่อไหร่ที่หญ้าทะเลหายไปย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนบนเกาะลิบงได้ ดังนั้น ชุมชนจึงควรให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศ เพื่อให้หญ้าทะเลเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป "ถ้าไม่มีหญ้าทะเล สัตว์ทะเลตามห่วงโซ่อาหารก็จะลดน้อยลงและหายไปในที่สุด รวมถึงการท่องเที่ยวลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในชุมชน เพราะรายได้จากการทำสวนยางพาราปัจจุบันคงไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว ขณะที่การทำประมงก็ทำได้ยากขึ้นเพราะทรัพยากรที่มีอยู่น้อยลง โครงการวิจัยปริศนาหญ้าทะเลนี้ เป็นการร่วมกลุ่มของเด็กเยาวชนเกาะลิบงที่มีใจอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน เริ่มจากการศึกษาค้นหาความรู้เรื่องของหญ้าทะเลก่อนว่า ทำไมจึงต้องมีหญ้าทะเล ในอดีตเคยมีเท่าไหร่ ปัจจุบันหายไปอย่างไร จะทำอย่างไรให้ดีขึ้น และจะทำอย่างไรให้คนบนเกาะใช้พื้นที่ที่อยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ทะเลอย่างเป็นมิตรมากขึ้นโดยไม่ทำลาย ซึ่งเป็นโจทย์เบื้องต้นสำหรับนักวิจัยรุ่นเยาวน์กลุ่มนี้" วิลลี่ ป้อนา อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง อำเภอกันตัน จังหวัดตรัง ตัวแทนกลุ่มเยาวชน Active Citizen เกาะลิบง และในฐานะหัวหน้าโครงการฯ บอกถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการวิจัยปริศนาหญ้าทะเลในครั้งนี้ว่า ช่วงประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ได้เห็นภาพหญ้าทะเลเปลี่ยนสี และลอยตายเต็มหน้าหาด เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลลดลงและพะยูนก็เริ่มน้อยลง ชุมชนเกิดการตื่นตัวกัน พอมีงานวิจัยเข้ามาทำให้เกิดการฟื้นฟูหญ้าทะเล และหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมเดินสำรวจร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนร่วมกับทีมอาสาพิทักษ์ดุหยงพบว่า มีพะยูนมากินหญ้าทะเลที่เกาะมากขึ้น ทำให้เห็นชัดว่าถ้าไม่มีหญ้าทะเลที่พะยูนชอบกินก็จะไม่มีพะยูน จึงเกิดความเป็นห่วงกลัวว่าหญ้าทะเลจะหมดไปแล้วจะทำให้พะยูนและสัตว์ทะเลขนาดเล็กหายไปจากเกาะลิบง เพราะส่วนตัวเองแล้วก็ชอบลงทะเลไปหากุ้งหาหอยชักตีนมาทำอาหาร เวลาลงไปจะเห็นสัตว์ทะเลอื่นๆ เข้ามาหากินในบริเวณหญ้าทะเลเช่นกันๆ ไม่ใช่มีแค่พะยูน เลยคิดว่าถ้าเรามาช่วยกันดูแลอนุรักษ์หญ้าทะเล เราก็จะได้เห็นสัตว์ทะเลเหล่านั้นไปนานๆ "เมื่อก่อนจะเห็นหญ้าทะเลมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะมีหญ้าทะเลทำให้พะยูนมีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดความเป็นห่วงว่าหญ้าทะเลซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารของพะยูน และเป็นที่อนุบาลของสัตว์ทะเลขนาดเล็กชนิดต่างๆ ลดลง ที่สำคัญที่สุดคือ อยากให้พะยูนและหญ้าทะเลอยู่คู่กับเกาะลิบงตลอดไป จึงเป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรหญ้าทะเล และสัตว์ทะเล โดยร่วมกับเพื่อนๆ อีก 7-8 คน เข้ามาทำกิจกรรมในโครงการปริศนาหญ้าทะเลเกาะลิบงซึ่งตนเองและเพื่อนๆ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนมาทำประโยชน์ให้กับชุมชนตรงนี้" หลังการตายของมาเรียม วิลลี่และเพื่อนๆ เยาวชน Active Citizen เกาะลิบง เปลี่ยนกิจกรรมยามว่างหลังเลิกเรียนและวันหยุดในการเล่นสนุกกับเพื่อนๆ มาเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน โดยพากันเดินสำรวจบริเวณอ่าวดุหยง เขาบาตูปูเต๊ะ หาดทุ่งจีน และบริเวณแหลมจูโหย ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าทะเล ชนิด ปริมาณของหญ้าทะเล และสัตว์ผิวดิน เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของหญ้าทะเลที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเลและพะยูน เพื่อจัดทำแผนที่หญ้าทะเลต่อไป ขณะเดียวกันยังได้ร่วมทำกิจกรรมกับกับชาวบ้านเกาะลิบง และจิตอาสาทิพักษ์ดุหยงบ่อยครั้งในการออกไปเก็บขยะเพื่อฟื้นฟูแนวหญ้าทะเลเพื่อเป็นประโยชน์กับพะยูนที่มีอยู่เกือบ 200 ชีวิตได้ใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งอาหาร อดินันท์ สังสัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง ยอมรับว่า แม้การเล่นเกมจะสนุกแต่การได้มาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์หญ้าทะเล ทำให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังรู้สึกภูมิใจที่สามารถหักห้ามใจตัวเองไม่ให้เล่นเกมได้ และอีกเหตุผลสำคัญคือ ทำให้ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานคนเดียวอาจทำไม่สำเร็จ การมาทำตรงนี้จะทำให้เรียนรู้ถึงกระบวนการการทำงานอย่างมีส่วนร่วม และนำไปต่อยอดได้ "การเล่นเกมไม่สามารถทำให้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่การมีความรู้จะสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต" วิลลี่ หัวหน้าโครงการปริศนาหญ้าทะเลเกาะลิบง กล่าวเสริมทิ้งท้ายไว้ได้อย่างคมคาย ขนิษฐา กล่าวในตอนท้ายว่า เพราะหญ้าทะเลมีสำคัญสำหรับเกาะลิบง ที่ผ่านมาคนในชุมชนรู้ว่ามีหญ้าทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยรู้ว่าหญ้าทะเลมีคุณค่าและความหมายต่อทะเลอย่างไร ดังนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ถือเป็นความหวังของชุมชนเกาะลิบง เพราะสิ่งที่เยาวชนกำลังทำอยู่มีความสำคัญมาก หากสามารถค้นหาปัจจัยในการดำรงอยู่ของจำนวนหญ้าทะเล และแนวทางการปกป้องรักษาหญ้าทะเลไม่ให้ลดลงได้ ก็จะทำให้เกาะลิบงมีความพิเศษมากกว่าพื้นที่อื่น โดยเยาวชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่จะต้องทำให้ชุมชนได้รู้และสามารถส่งต่อความรู้นี้ไปยังเพื่อน พี่น้อง และคนอื่นๆ ในชุมชนต่อไป ขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจากระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน คาดว่าหลังเสร็จสิ้นโครงการจะมีการต่อยอดไปสู่โครงการอื่นต่อไป
แท็ก ปริศนา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ