กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
รมช.มนัญญาเปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์แห่งแรกในกรุงเทพฯ นำร่องที่ร้านสหกรณ์พระนครใกล้สถานีรถไฟฟ้าอารีย์เป็นศูนย์กลางจำหน่ายผักผลไม้และสินค้าเกษตรปลอดภัย คัดสินค้าดีมีคุณภาพจากสหกรณ์ผู้ผลิตในจังหวัดต่าง ๆ มากระจายสู่ผู้บริโภค ลั่นขอเวลา 3 เดือนวัดผลตอบรับ ก่อนสยายปีกไปทั่วประเทศ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์แห่งแรกในกรุงเทพมหานครที่ร้านสหกรณ์พระนคร ถ.พหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาร้านสหกรณ์ ให้เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายพืชผักและผลิตผลการเกษตรจากสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าทั้งของสดและของแห้ง ซึ่งจะเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัยในราคายุติธรรม ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบถึงที่มาของแหล่งผลิตสินค้าแต่ละชนิด เพื่อสร้างความมั่นใจเมื่อเลือกซื้อสินค้าที่ "ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์"
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เยี่ยมสหกรณ์หลายจังหวัด ทำให้ทราบว่าสินค้าสหกรณ์ เป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ขาดการส่งเสริมหรือการทำตลาดที่ดี จึงให้นโยบายกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปทำการเชื่อมโยงสหกรณ์การเกษตรที่ผลิตสินค้ากับสหกรณ์ร้านค้าในกรุงเทพฯ เพื่อผลักดันให้เกิดซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ และให้ปรับปรุงรูปแบบร้านค้าของสหกรณ์ทันสมัย ดูสวยงาม สะอาด ซึ่งการที่เลือกตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ที่ร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด เป็นแห่งแรก เนื่องจากตั้งอยู่ในย่านชุมชน และใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ซึ่งเป็นจุดที่ประชาชนเดินทางมาซื้อสินค้าได้สะดวก และในอนาคตจะสนับสนุนให้มีซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อขยายช่องทางจำหน่ายผัก ผลไม้ เนื้อ นม ไข่ไก่ และสินค้าแปรรูป ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกพื้นที่ต่อไป
"ดิฉันต้องการผลักดันให้สำเร็จเพราะหากทำได้ จะเป็นการนำสินค้าสหกรณ์ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้นประมาณ 3 เดือน จะประเมินได้ว่าการตอบรับเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงอะไรให้ตรงใจคนซื้อ เพราะสินค้าที่นำมาจำหน่ายที่นี่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ บริโภคพืชผักและสินค้าที่คุณภาพดี หากเสียงตอบรับดีจะมีการขยายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์ เพราะหากสินค้าขายได้ดี ก็จะเป็นผลให้ เงินในกระเป๋าของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่ประชาชนมาช่วยอุดหนุนสินค้าสหกรณ์ นอกจากได้สินค้าดีแล้ว อีกทางหนึ่ง คือเรากำลังช่วยกันเกื้อกูลพี่น้องประชาชนของเราในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้มีกำลังใจผลิตสินค้าดี สินค้าปลอดภัยมาจำหน่าย และอนาคตจะส่งเสริมให้ค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น" รมช.เกษตรฯกล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สินค้าที่นำมาจำหน่ายที่ร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด จะเน้นสินค้า 4 ชนิดหลัก คือ ข้าวหอมมะลิ จากสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด เนื้อโคขุนจากสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด จ.นครปฐม "KU Beef" เนื้อโคขุนแปรรูป เช่น เนื้อกระจก และเนื้อแผ่นจากสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร ไข่ไก่ จากสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา และผักผลไม้เมืองหนาว เช่น ฟักทองญี่ปุ่น แตงกวาญี่ปุ่น กะหล่ำปลีสีม่วง มะเขือเทศ อะโวคาโด้ จากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่
ด้านนางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ดีใจที่นางสาวมนัญญา รมช.เกษตรฯ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมสินค้าสหกรณ์กับตลาดคนเมือง เพราะจะเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าคุณภาพของสหกรณ์ เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วติดใจ ก็มักจะโทรมาถึงร้อยเอ็ดว่าจะสามารถหาซื้อได้ที่ไหน จากนี้ไปก็จะได้มีตลาดทางเลือกเพิ่มขึ้น
"ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรวิสัย ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ มีรายได้ประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่าการเข้าร่วมตลาดนี้จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ต่อเดือน ซึ่งอยากฝากว่าเพื่อนๆสมาชิกสหกรณ์ที่ต้องการขายสินค้า ขอให้ตั้งใจทำคุณภาพให้ดี เพราะเมื่อคุณภาพดี จะมีตลาดมาหาเอง อย่าคิดว่าการทำคุณภาพเป็นเรื่องเสียเวลาหรือสิ้นเปลือง เพราะเมื่อทำได้ ความสำเร็จจะวิ่งมาหาสหกรณ์เอง"
ด้านนายประวิทย์ นามเหลา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า สหกรณ์ผลิตเนื้อคุณภาพสายพันธุ์ผสมระหว่างแองกัสกับวากิว ทำให้เนื้อนุ่ม ทั้งนี้ได้เริ่มส่งเนื้อทุบพร้อมทานและเนื้อกระจกพร้อมทาน มาทดลองวางตลาดสหกรณ์แห่งนี้ เบื้องต้นไม่คาดหวังรายได้ แต่คาดหวังในเรื่องการเปิดตัว การแนะนำตัวต่อตลาดมากกว่า
"ผมเห็นว่านโยบายนี้ดีมาก เป็นนโยบายที่จะนำสินค้าสหกรณ์สู่ตลาด อยากให้มีทุกจังหวัดเป็นสหกรณ์ร้านค้าเครือข่าย เพราะที่ผ่านมาต้องบอกว่าสหกรณ์มุ่งทำของดี แต่สู้เงื่อนไขของร้านค้าเอกชนไม่ค่อยไหว เพราะทั้งค่าดำเนินการ ค่าบริหาร การโปรโมทสินค้า การจัดโปรโมชั่น ซึ่งรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5% ของต้นทุน รวมถึงการวางจำหน่ายสินค้าที่มักจะไม่ค่อยโชว์สินค้าของสหกรณ์ ดังนั้นหากสำเร็จจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกสหกรณ์"