กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สอวช.
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมบอร์ดบริหารสำนักงาน ครั้งที่ 2/2562 ณ ห้องประชุมหว้ากอ ชั้น 14 สอวช. โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นหารือสำคัญคือ การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง (System Research for Transformative Changes) ซึ่งรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สอวช. ดำเนินการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญและโจทย์สำหรับการวิจัยเชิงระบบ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือถึงการวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง หรือ System Research for Transformative Changes ตามที่เคยได้มอบหมายให้ สอวช. จัดทำข้อมูล โดยการวิจัยเชิงระบบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมาก เพราะจะได้เห็นภาพใหญ่ของประเทศว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน ต้องเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน นำไปสู่ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ การวิจัยเชิงระบบต้องคำนึงถึงประเด็นที่เป็นบริบทโลก (Global Context) การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นทำน้อยได้มาก (Paradigm Shift) การปรับเปลี่ยนหรือสร้าง Eco System ที่เหมาะสม ตลอดจนการทันต่อกระแสโลก (Global Trend) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ สอวช. ได้นำเสนอตัวอย่างประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัยเชิงระบบต่อที่ประชุม ผมได้มอบหมายให้ สอวช. ทำโจทย์การวิจัยเชิงระบบ และร่างโครงสร้างการวิจัยเชิงระบบ 1 – 2 ประเด็น โดยเลือกโจทย์ที่อิงตามเทรนด์โลก การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ระบบการเกษตร รวมถึง Circular Economy และนำมานำเสนอต่อที่ประชุมครั้งต่อไป
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ได้ทำการศึกษาและหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้น และได้จัดทำตัวอย่างประเด็นสำคัญสำหรับการวิจัยเชิงระบบ โดยได้ดำเนินการจัดทำตัวอย่างหัวข้อวิจัยเชิงระบบมานำเสนอต่อที่ประชุม 5 ด้าน ประกอบด้วย การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน การวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา และการวิจัยเชิงระบบเพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรองรับ Multistage Life นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอที่ประชุมให้เห็นถึงกระบวนการทำวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่จะเริ่มตั้งแต่ การกำหนดประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ระบบและผู้เกี่ยวข้อง ออกแบบระบบและกลไกเพื่อทดลองเชิงนโยบาย (Sandbox) การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างกลไกให้เกิดความยั่งยืน และการปรับกฎ ระเบียบรองรับระบบใหม่ โดยการวิจัยเชิงระบบจะเน้นที่สามกระบวนการแรก คือ การกำหนดประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ระบบและผู้เกี่ยวข้อง และออกแบบระบบและกลไกเพื่อทดลองเชิงนโยบาย (Sandbox) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สอวช. จะดำเนินการค้นหาและเลือกโจทย์วิจัยเชิงระบบ และเริ่มศึกษารายละเอียดเชิงลึก รวมถึงโครงสร้างแต่ละโจทย์วิจัย เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมต่อไป