กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมา ห่วงสุขภาพใจคนวัยทำงานใน4จังหวัดอีสานตอนล่างเกิดความเครียด ชี้ส่งผลทั้งตัวเองและคนรอบข้างที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกันอาจลามมาถึงคนในครอบครัว แนะวิธีการป้องกันให้ยึดหลัก 4 ส. อาทิ การใช้สมาธิ การยึดหลักสมดุลและยืดหยุ่น สื่อสารกับผู้ร่วมงานอย่างเปิดใจ สุภาพ ข้อมูลถูกต้อง และหลัก 1 ม. คือ ความเมตตา คิดถึงใจคนอื่น ชี้หากฝึกและทำได้ทุกวันจะทำให้สุขภาพจิตดี ทำงานอย่างมีความสุข ส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพดีขึ้น
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ความเครียด(stress)จากการทำงานเป็นปัญหาสำคัญของวัยทำงาน ซึ่งข้อมูลในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างหรือเขตนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ล่าสุดในปี 2560 มีประชากรอายุ15 ปีขึ้นไปที่มีงานทำอยู่ในภาครัฐและเอกชนรวม 2.8 ล้านกว่าคน โดยสาเหตุของความเครียดนั้นเกิดมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากสังคม การแข่งขันทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ลักษณะงานที่ยุ่งยากซับซ้อน บทบาทความรับผิดชอบ ความกดดัน บรรยากาศของหน่วยงาน สัมพันธภาพระหว่างบุคคลภายในหน่วยงาน เป็นต้น นอกจากความเครียดจะมีผลกระทบต่อจิตใจและกระทบทางกายของผู้ที่มีอาการเองแล้ว ยังสามารถติดต่อคนอื่นๆทั้งผู้ร่วมงานรวมไปถึงคนในครอบครัวได้ทางบรรยากาศ หรือเรียกว่าโรคระบาดทางอารมณ์ และยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำงานด้วย โดยมีผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การทำงานส่งผลให้เกิดความเครียดได้ถึงร้อยละ 28 และขาดงานร้อยละ23
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ในการป้องกันความเครียดจากการทำงาน และส่งเสริมการสร้างความสุขในการทำงานและในที่ทำงาน มีข้อแนะนำให้ยึดหลัก 4 ส.1ม. เป็นแนวปฏิบัติ โดยหลัก 4 ส. ประกอบด้วย 1. สมดุลและยืดหยุ่น โดยการรู้จักตนเอง รู้จักหน้าที่งานรับผิดชอบ ตั้งเป้าหมายในการทำงานโดยจัดเรียงความสำคัญและความเร่งด่วน แบ่งความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวออกจากกันอย่างลงตัว อาจใช้สูตร 8:8:8 คือทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง ทำกิจวัตรหรือกิจกรรมอื่นๆ 8 ชั่วโมง เป็นการจัดสรรชีวิตของแต่ละคนเพื่อให้มีความสุขทั้งการทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน 2. มีความสัตย์ซื่อ คือมีจริยธรรม ความซื่อสัตย์ในการทำงาน ตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ของตนเองและพยายายามทำบทบาทนั้นให้ดี แม้จะเผชิญกับภาวะวิกฤติบ้างก็ตาม 3. มีสมาธิจดจ่อในการทำงาน ไม่เสียสมาธิไปกับเรื่องอื่นๆในเวลางาน โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิตอลในปัจจุบัน ซึ่งมักจะมีสิ่งต่างๆเช่นไลน์ ( LINE) เฟชบุ้ค ก่อกวนระหว่างทำงาน ทำให้เรากังวลใจ และส่งผลให้คุณภาพงานออกมาไม่ดีพอ 4. สื่อสารกับผู้ร่วมงานอย่างเปิดใจ สิ่งที่ควรคำนึงไว้เสมอขณะสื่อสาร ประการแรกคือข้อมูลต้องถูกต้อง ประการที่2 ให้คำนึงถึงบริบทแวดล้อมและบุคคลที่สื่อสารด้วย ประการที่3คือใช้คำพูดสุภาพ ไม่ก้าวร้าว หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันขณะรู้สึกว่าตนเองกำลังมีอารมณ์โกรธหรือเครียด ประการสุดท้ายคือคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล รับฟังเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นให้ได้ สำหรับหลัก 1 ม.คือการใช้ความเมตตา เห็นอกเห็นใจต่อความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งตัวเราเองและคนอื่น และรู้จักการคิดถึงใจคนอื่น คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำให้เราเกิดการระมัดระวังทั้งพฤติกรรมและคำพูดมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยทั่วไปความเครียดแบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับต่ำ (Mild Stress) เป็นความเครียดที่ไม่คุกคามต่อการดำเนินชีวิต อาจมีความรู้สึกเพียงแค่เบื่อหน่าย มีพฤติกรรมที่เชื่องช้าลง ระดับปานกลาง (Moderate Stress) เป็นความเครียดในระดับที่ไม่ก่ออันตราย และไม่แสดงออกถึงความเครียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เองจากการได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ความเครียดระดับสูง (High Stress) เป็นความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทำให้เกิดความผิดปกติตามมาทั้งร่างกาย อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่นปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด พฤติกรรมการนอนและการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป จนมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และความเครียดระดับรุนแรง (Severe Stress) เป็นความเครียดระดับสูงและเรื้อรังต่อเนื่องจนทำให้คนคนนั้นมีความล้มเหลวในการปรับตัว ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่างๆที่รุนแรงขึ้นมาได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือเป็นปี ควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว