กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรม "Superhero in me" ให้แก่เด็กๆ จากชุมชน โดย BDMS ร่วมกับ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และ ฝ่าย Patient Relationship Management บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กๆ อยากเห็นสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คนไทยทำดีต่อกัน ไม่ทำร้ายกันด้วยคำพูด ประกอบกับสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 พบว่าสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยพบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณหกแสนคน โดยประเทศไทยมีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับสองของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
ด้วยเหตุนี้ BDMS จึงมุ่งหวังที่จะร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนและร่วมสนับสนุนการส่งต่อคำพูดที่สร้างสรรค์สู่สังคมไทย ลดการทำร้ายกันผ่านคำพูด สร้างความตระหนักรู้ในข้อเท็จจริงที่ว่า เราทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีบุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถูกตัดสินและได้รับถ้อยคำวิจารณ์ รูปลักษณ์ภายนอก เพศสภาพ หรือเชื้อชาติที่แตกต่างในเชิงลบ การรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจกัน จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสังคมที่ BDMS ให้ความสำคัญด้วยในขณะนี้ และนำมาซึ่ง งานเสวนา Dek Talk by BDMS ในหัวข้อ "Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่" โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเด็กๆ ในสี่ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนอ่อนนุช 88 ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ และชุมชนสามัคคีพัฒนา เพื่อสร้างเวทีให้สังคมได้ยินเสียงสะท้อนจากเด็ก และแสดงให้เห็นว่า เสียงของพวกเขา "มีพลัง" ที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SVP - CSD) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "งานเสวนา Dek Talk by BDMS ภายใต้หัวข้อ 'Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่' จัดขึ้นเพื่อสานต่อเสียงเล็กๆ ของเด็กๆ จากชุมชน เสียงที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ให้สังคมได้ เวทีในวันนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากความคิดเห็นของเด็กๆ ที่ต้องการเห็นสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่องการใช้คำพูดที่สร้างสรรค์ สร้างการตระหนักรับรู้และไตร่ตรองถึงผลกระทบของการใช้คำพูดเชิงลบต่อผู้อื่น และร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่"
ภายในงานเสวนา Dek Talk by BDMS ได้รับเกียรติจากนายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ และ "หมอเบิร์ด" แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมเสวนาเกี่ยวกับผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ถูกทำร้ายผ่านคำพูด และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือกับคำพูดเชิงลบต่างๆ พร้อมด้วยคุณรัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ดารานักแสดงชื่อดัง ที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ที่พบเจอก่อนและหลังเข้าวงการ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนสู่สังคมของผู้ถูกกระทำ และเพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมไทยเข้าใจและเห็นความสำคัญของคำพูด
นอกจากนี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "แขเชื่อว่าเราทุกคนนั้นแตกต่างกัน ไม่มีใครควรได้รับคำพูดเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำวิจารณ์ รูปลักษณ์ภายนอก หรือเพศสภาพของผู้อื่น แขอยากให้งานเสวนาในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้เกิดการส่งต่อคำพูดที่ดีเพื่อสร้างสังคมที่ดีมากขึ้น"
ความตระหนักรู้และไตร่ตรองถึงผลกระทบต่อผู้อื่นก่อนที่จะกระทำ การพูดเพื่อให้กำลังใจกัน การยอมรับและการเคารพถึงความแตกต่างของกันและกัน คือกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ BDMS ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี อยากเห็นคนไทยทุกคนร่วมมือกัน รณรงค์เรื่องคำพูดที่สร้างสรรค์ สร้างสังคมให้น่าอยู่ โดยเริ่มต้นจากการพูดสิ่งดีๆ กับคนในครอบครัว เพื่อนในโรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน และสังคม เพราะเมื่อเรามีสุขภาพจิตที่ดี ร่างกายเราก็จะดีตามจิตใจเราไปด้วย สังคมที่น่าอยู่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราร่วมมือกัน
สามารถรับชมวีดีโอ "ดอกไม้ในคมมีด" ภายใต้โครงการ "Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่" ได้ที่เฟสบุ๊ค มูลนิธิเวชดุสิตฯ https://www.facebook.com/587052674766987/posts/1527586187380293?sfns=mo