กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ทีโอที
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาและจัดทำต้นแบบ (Prototype) ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID) และ Health Information Exchange (HIE) Platform ซึ่งถือเป็นรูปแบบใหม่ โดยจะมีการจัดระบบการให้ข้อมูล การคุ้มครองข้อมูล การจัดการข้อมูลด้านสุขภาพของผู้รับบริการ และการเข้าถึงข้อมูลของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมทั้งการส่งข้อมูลผู้รับบริการกลับไปยังหน่วยบริการต้นสังกัดเพื่อการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพ รวมทั้ง มีการจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ และการขอรับค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข อีกด้วย
วันนี้ (31 ตุลาคม 2562) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร. มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หม่อมหลวงจิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการบริษัท บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ในการศึกษาและจัดทำต้นแบบ (Prototype) ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID) และ Health Information Exchange (HIE) Platform ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เรื่องข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการ ให้มีการบริหารข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการที่เหมาะสม
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ ในการยกระดับการบริการระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน จากการที่มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ส่งต่อได้รวดเร็ว ผู้ให้บริการและผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัย
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า การปฏิรูปกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลโดยการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานเหมือนในอดีต ที่ทำงานซ้ำซ้อนและขาดความเชื่อมโยงของข้อมูล โดยระยะแรกจะนำร่อง 4 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สระบุรี และตรัง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการยืนยันตัวตนของประชาชนผู้รับบริการ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดส่ง การคุ้มครอง และการจัดการข้อมูลสุขภาพของประชาชนผู้รับบริการ ก่อนขยายการดำเนินงานในระดับจังหวัด เขต ภาค และทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ขณะนี้มีจำนวน 1,180 แห่ง ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน และจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคน ในปี 2563 (ร้อยละ 40 ของประชากร) และมีหน่วยบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 แห่ง
ด้าน ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที ขอขอบคุณและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำต้นแบบระบบยืนยันตัวตน Digital ID และ Health Information Exchange Platform เพื่อสนับสนุน พรบ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูลของแพทย์เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพทำให้การรักษาพยาบาลปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำ และต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทีโอที ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านบริการดิจิทัล จะเป็นผู้พัฒนาระบบ Digital ID และ Health Information Exchange Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain บนมาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA โดยการสนับสนุนจาก บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID
ดร.มนต์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาต้นแบบระบบ Digital ID และ Health Information Exchange Platform จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้บริการสาธารณสุข โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีชื่อคู่กับประชาชน แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษาของประชาชนที่มีชื่อคู่กัน รวมทั้งจาก รพ.อื่นที่ประชาชนไปรับการรักษาด้วย โดยต้องยืนยันตัวตนของแพทย์และประชาชนผ่านระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID Platform) ด้วยความยินยอมการให้ใช้ข้อมูลของประชาชน นอกจากนี้ ข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษา จะถูกส่งไปยังแพทย์ด้วยช่องทางที่ปลอดภัยเพื่อจัดทำให้อยู่ในรูปแบบ Global Medical Record ซึ่งจะทำให้แพทย์มีข้อมูลสำคัญเพื่อสื่อสารและวางแผนสุขภาพกับประชาชนที่มีคู่ชื่อต่อไป
หม่อมหลวงจิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการบริหารบริษัท NDID ชี้แจงว่า ทาง NDID มีความยินดีเป็นอย่างสูงที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความถูกต้อง แม่นยำในการยืนยันตัวตน รวมถึงได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของความเชื่อมั่น ทั้งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การจัดเก็บและการโอนย้ายข้อมูลด้านสาธารณสุข และบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจในมาตรฐานของระบบ ว่าข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษานั้น ได้รับการดูแลและจัดการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เชื่อถือได้ และการส่งต่อข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษา จะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้วเท่านั้น โดยบริษัท NDID เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จาก Platform และความเชี่ยวชาญของ NDID จะสามารถต่อยอด และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของโครงการนี้ต่อไป