กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางเดินหน้ารับสมัครลงทะเบียนผู้ประกอบการร้านค้า เข้าร่วมมาตรการ "ชิมช้อปใช้" ระยะที่ 2 ถึง 31 ธ.ค. 62 เน้นกระจายไปยังกลุ่มธุรกิจโรงแรมและทัวร์ท่องเที่ยว เผยร้านค้าเดิมที่เคยลงทะเบียนแล้ว สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ต่อเนื่อง เสริมทัพทีมหมอคลังลงพื้นที่ร่วมกับสรรพากรพื้นที่และ ธ.กรุงไทย ชี้แจง สร้างความเข้าใจเรื่องภาษีกับร้านค้าและประชาสัมพันธ์กระตุ้นการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ "ชิมช้อปใช้" ระยะที่ 2 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.62 และขณะนี้กรมบัญชีกลางได้เปิดรับลงทะเบียนผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมมาตรการต่อเนื่องไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 62 ณ ห้องโถงชั้น 1 กรมบัญชีกลาง และที่สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นขยายผลให้มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นและครบวงจรสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว เช่น โรงแรม แพ็คเกจทัวร์ และรถเช่า เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าที่จะสมัครเข้าร่วมมาตรการขอให้จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ชัดเจน เช่น สถานที่จำหน่ายสินค้า ต้องมีหลักแหล่งแน่นอน เพื่อป้องกันมิให้มีผู้ที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากมาตรการนี้ ชื่อและที่อยู่ผู้ประกอบการ/สถานประกอบการ จะต้องถูกต้องและตรงกับเอกสารการจดทะเบียนพาณิชย์หรือเอกสารจดทะเบียนการค้า รวมทั้งเอกสารการประกอบกิจการต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการตั้งแต่ระยะที่ 1 ซึ่งมีจำนวนกว่า 177,655 ร้านค้า สามารถเข้าร่วมมาตรการในระยะที่ 2 ได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่
"มาตรการ ชิมช้อปใช้ ในระยะที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ในกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางและการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานคลังจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ให้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ ในเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่าน g-Wallet 2 เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับภาษีของผู้ประกอบการ โดยมีสรรพากรพื้นที่และธนาคารกรุงไทยร่วมดำเนินการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะทำให้ร้านค้ามีความมั่นใจในเรื่องของการ รับเงินจากกระเป๋าเงิน g-Wallet 2 มากขึ้น" อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า สำหรับประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ชิมช้อปใช้ ในระยะที่ 2 แล้วนอกจากจะได้รับวงเงินสนับสนุน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 1 และเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนเองผ่าน g-Wallet 2 (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับ ชิมช้อปใช้ ระยะที่ 1 แล้ว ยังจะได้รับสิทธิ์เงินชดเชยร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินชดเชย ไม่เกิน 4,000 บาท) โดยสามารถเติมเงินเพื่อใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 ได้ทั้งร้านชิมช้อปใช้และร้านค้าทั่วไป ในทุกจังหวัด ยกเว้นเพียงจังหวัดตามทะเบียนบ้านของตนเท่านั้น ส่วนการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 สามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวก โดยนอกจากจะเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ได้อีกด้วย