กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลการปลูกข้าวนาปี ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พบว่า เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการปลูกข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 828 บาท/ไร่ ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) จะได้รับผลตอบแทนสุทธิเพียง 347 บาท/ไร่ โดยพื้นที่ปลูกข้าวของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม มีจำนวน 3.4 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด
ไม้ผล ที่น่าสนใจนำมาปรับเปลี่ยนในพื้นที่นาที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ โดยมีต้นทุนการผลิต 14,934 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4 - 5 ผลผลิต 1,123 กก./ไร่ เกษตรกรขายได้ในราคา 47.96 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 38,922 บาท/ไร่/ปี โดยผลผลิตในจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ขายให้แก่ผู้รวบรวมจากต่างจังหวัด (กรุงเทพฯ อยุธยา และนครปฐม) เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และผลผลิตร้อยละ 35 ขายให้แก่ ผู้รวบรวมขายในต่างจังหวัด (เชียงราย และสุราษฎร์ธานี) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 ขายให้ผู้บริโภคภายในจังหวัด ซึ่งนอกจากจะขายให้กับตลาดผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปทำข้าวเกรียบมะม่วงซึ่งมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตจากมะม่วงในพื้นที่ และอีกชนิดหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน คือ ส้มโอ ต้นทุนการผลิต 12,580 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 4 - 5 ผลผลิต 1,487 กก./ไร่ เกษตรกรขายได้ในราคา 25.65 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 25,562 บาท/ไร่/ปี โดยผลผลิตในจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ขายให้แก่ผู้รวบรวมขายในต่างจังหวัด (นครปฐม และพิจิตร) และที่เหลืออีกร้อยละ 10 ขายให้ผู้บริโภคภายในจังหวัด
ด้านนางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังมีพืชตะกูลถั่วที่เป็นพืชทางเลือกเพื่อปลูกทดแทนในช่วงฤดูนาปรังเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการใช้น้ำเหมาะกับช่วงที่ประสบปัญหาน้ำในการเพาะปลูก คือ ถั่วเขียว ต้นทุนการผลิต 2,408 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในเดือนที่ 2 - 3 ผลผลิต 137 กก./ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรขายได้ในราคา 21.7 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 565 บาท/ไร่/รอบการผลิต โดยผลผลิตในจังหวัดส่วนใหญ่ร้อยละ 75 ขายให้แก่ บริษัท สมชายพาณิชย์ 88 จำกัด จ.เจริญ 95 จตุรพรสุพานิช และผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ซึ่งรวบรวมผลผลิตขายไปต่างจังหวัดเพื่อแปรรูปเป็นถั่วเขียว ผ่าซีกสำหรับใช้ทำแป้ง ไส้ขนม และเต้าส่วน ผลิตวุ้นเส้น ถั่วงอก รวมไปถึงบรรจุถุงจำหน่ายเพื่อการบริโภคและเมล็ดพันธุ์ ส่วนผลผลิตร้อยละ 20 ขายให้แก่ผู้รวบรวมเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ (กัมพูชา จีน) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 ขายให้ผู้บริโภคภายในจังหวัด
ทั้งนี้ รูปแบบการเกษตรแบบผสมผสาน จะช่วยลดความเสี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของราคาและปริมาณผลผลิตของพืชสำหรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยสามารถรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการต่อรองราคา รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งท่านที่สนใจข้อมูลสินค้าทางเลือกในพื้นที่ หรือข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญในจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 โทร. 0 56803 525 หรือ zone12@oae.go.th