กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2562 นับเป็นภารกิจปิดท้ายการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมอาเซียนของไทยตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งกว่า 50 ปีที่ผ่านมาของอาเซียน กลไกความร่วมมือต่างๆ ภายใต้อาเซียนมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกผ่านโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและเอาชนะคำท้าทายของแนวคิดที่ว่าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการผลิตสินค้าคล้ายกันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด โดยประเทศไทยเองก็ได้รับประโยชน์ในหลายมิติจากการเป็นสมาชิกอาเซียน
มิติด้านการค้า อาเซียนถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย เช่นเดียวกับมิติด้านการลงทุน อาเซียนถือเป็นเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญของนักลงทุนไทย โดยยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยในอาเซียนอยู่ที่ราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่มิติด้านการท่องเที่ยว อาเซียนเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของไทย ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเดินทางมาไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
ทั้งนี้ ประเด็นความร่วมมือและการเจรจาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่มีความสำคัญและคาดว่าจะส่งผลต่อการค้า การลงทุนของไทย มีดังนี้
- ASEAN Summit กับความสำเร็จในการเป็นกลไกสนับสนุนการค้า
การประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้มีความร่วมมือด้านการค้าที่คาดว่าจะสามารถประกาศเป็นความสำเร็จของไทยในฐานะการเป็นประธานและเจ้าภาพอาเซียน คือ ข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangements Pact on Automobiles and Parts) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์บางรายการ อาทิ ระบบเบรก เข็มขัดนิรภัย ที่นั่ง ยางรถยนต์ ระบบควบคุมรถยนต์ มาตรวัด และกระจกนิรภัย ทั้งนี้ การที่แต่ละประเทศต่างกำหนดมาตรฐานสินค้าของตนเอง ทำให้ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าซ้ำเมื่อสินค้าส่งออกไปยังประเทศปลายทาง ถือเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นของผู้ประกอบการทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยปัจจุบันไทยส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปอาเซียนถึงราว 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งหมดของไทย จึงคาดว่าข้อตกลงยอมรับร่วมฯ ดังกล่าวจะมีส่วนสนับสนุนการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย ดังนี้
- ช่วยลดการสูญเสียเวลาที่ไม่จำเป็นระหว่างการผลิตและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์อาเซียนที่ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้การส่งออกและนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จะใกล้เคียงกับการซื้อขายภายในประเทศมากขึ้น
- เป็นต้นแบบในการขจัดอุปสรรคทางการค้าในอนาคต อาทิ กรณีเวียดนามบังคับใช้ระเบียบนำเข้ารถยนต์ Decree 116 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ส่งผลให้รถยนต์ของไทยที่ส่งออกไปเวียดนามถูกตรวจสอบซ้ำจนทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามลดลงในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ แม้ข้อตกลงยอมรับร่วมฯ ดังกล่าวใช้เป็นมาตรฐานเฉพาะกับชิ้นส่วนยานยนต์ และอาจจะยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหากรณี Decree 116 ของเวียดนามได้โดยตรง แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่สามารถนำไปใช้ในอนาคตสำหรับการกำหนดมาตรฐานรถยนต์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ยังนำไปเป็นแบบอย่างในการจัดทำข้อตกลงร่วมมาตรฐานในสินค้าอื่น ซึ่งต้องเข้มงวดด้านการตรวจสอบมาตรฐาน ในอนาคต อาทิ กลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
- ASEAN Summit กับการเป็นเวทีเจรจาต่อรองที่ต้องจับตา
การประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ไม่เพียงเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิก แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของอาเซียน อย่างจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น ผ่านการประชุมย่อยหลายประชุม นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาการค้าระหว่างกัน โดยไฮไลต์การประชุมที่สำคัญ ได้แก่
- การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 คาดว่าจะมีการหารือการเชื่อมโยงโครงการภายใต้ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ซึ่งมีอาเซียนเป็น 1 ในเส้นทางหลักของ BRI ให้สอดรับกันกับ Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC) ซึ่งเป็นแผนแม่บทการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ซึ่งต้องติดตามท่าทีของจีนว่าจะใช้ BRI ในการรุกอาเซียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากจีนเองกำลังเผชิญความผันผวนจากสงครามการค้า ดังนั้น การเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอาจเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า
- การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 การที่ความสัมพันธ์ของจีนกับอาเซียนถือได้ว่าอยู่ในระดับค่อนข้างดี ส่งผลให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการใช้เวทีการประชุม ASEAN Summit ในการผูกสัมพันธ์กับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยประเด็นส่วนหนึ่งในการประชุมจะเป็นการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือการค้าออนไลน์ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลืออาเซียนในเรื่องของการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยอาจจะใช้โอกาสนี้เปิดการเจรจานอกรอบกับสหรัฐฯ ในประเด็นที่สหรัฐฯ ระงับการให้สิทธิ์ GSP กับสินค้าไทย 573 รายการ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
- การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3 (3rd RCEP Summit) ซึ่งเป็นเวทีที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนมีความพยายามที่จะเร่งประสานการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเจรจาจะยังไม่สามารถจบได้ภายในปีนี้ เนื่องจากยังมีสมาชิกบางประเทศที่กังวลต่อการเปิดเสรีสินค้าในหมวดที่มีความอ่อนไหว โดยปัจจุบันการเจรจาในกรอบการเข้าสู่ตลาด (Market Access) สามารถหาข้อสรุปได้แล้วราวร้อยละ 80 ของรายการสินค้าและบริการ
บทสรุปของการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ทำให้มองเห็นถึงทิศทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ ดังนี้
- ประการแรก อาเซียนจะยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยยังต้องดูแลรักษา นอกเหนือจากการที่ RCEP ยังอาจต้องใช้เวลาในการตกลงร่วมกัน ทำให้ความหวังที่จะได้ประโยชน์จากตลาดการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ RCEP ต้องทอดเวลาออกไป ขณะที่กลไกการพัฒนาของอาเซียนที่รุกคืบไปมากยังเอื้อให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในอาเซียนเป็นตัวช่วยรุกตลาด ดังเช่นกรณีข้อตกลงยอมรับร่วมมาตรฐานสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างกันมากขึ้น หรือการใช้ความชำนาญด้าน Social Marketing ของผู้ประกอบการ รวมถึงความได้เปรียบด้านที่ตั้งในการรุกตลาด Social Commerce ของอาเซียนที่เติบโตกว่าร้อยละ 30 ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรุกตลาด CLMV ที่ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก
- ประการที่สอง การวางตัวของอาเซียนที่ค่อนข้างเป็นกลางระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ เอื้อให้อาเซียนจะยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะท่ามกลางสงครามการค้า ซึ่งการที่อาเซียนไม่ได้ฝักไฝ่ฝ่ายใดเป็นพิเศษ ทำให้อาเซียนเป็นตัวเลือกลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า การที่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะใน EEC หรือในธุรกิจ S-Curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์ไม่ใช่เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการลงทุนใหม่ แต่หมายรวมถึงผู้ประกอบการที่พร้อมจะช่วยตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติได้ดีกว่าตัวเลือกอื่นในอาเซียน