กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--สถาบันคึกฤทธิ์
"ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่" คำกล่าวของ อาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) ถูก ผศ.ดร.ธีรภัทร์ ทองนิ่ม ( ครูแป๊ะ ) ผู้กำกับการแสดงและกำกับเวที หยิบยกขึ้นมากล่าวอีกครั้ง หลังจบงานแสดงโขนใหญ่ประจำปี ชุด "ราพณ์พ่ายบารมี พระจักรีครองเมือง" ของศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนำนักแสดงเยาวชนกว่า 200 ชีวิต แสดงโขนหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 31 ตุลาคม 2562 ณ โรงละครอักษรา คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวหลังจบการแสดงโขนรามเกียรติ์หน้าพระที่นั่ง ครั้งนี้ว่า "ภายหลังจบการแสดง กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งถามถึงการฝึกซ้อมคณะโขนเยาวชนของเราว่าฝึกกันอาทิตย์ละวันจริงหรือ และยังทรงสนพระทัยการฝึกของเด็กๆ ที่พากย์โขน ซึ่งทำให้พวกเราต่างปลื้มปิติ ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของเยาวชนคนโขน คณะครู และคณะผู้ทำงานของศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ หากย้อนกลับไปทางสถาบันเริ่มโครงการฝึกเยาวชนโขนไทยมาเกือบ 10 ปี โดยเริ่มรับสมัครเยาวชน จากชุมชนโดยรอบที่ตั้งของสถาบันคึกฤทธิ์ และเยาวชนจากโรงเรียนใกล้เคียง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2553 ตอนนั้นมีคนเข้าเรียนและฝึกหัด 70 คน ต่อมามีการก่อตั้งศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ขึ้นในปี 2555 จนมาถึงวันนี้ มีเยาวชนผู้สนใจเข้าเรียนศิลปะไทยเพิ่มมากขึ้นถึง 630 คน ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรจะเก็บรักษาศิลปะความเป็นไทยไว้ในตัวเยาวชน ให้พวกเขาเป็นกำลังสืบทอดวัฒนธรรมของชาติต่อไป การที่ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงโขนเยาวชนของสถาบันคึกฤทธิ์ในครั้งนี้ ถือเป็นมิ่งขวัญแก่มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ฯ ที่จะดำเนินกิจกรรมสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้ดำรงสืบไป"
โขนรามเกียรติ์ตอน "ราพณ์พ่ายบารมี พระจักรีครองเมือง" จับความตอน สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างฝ่ายมนุษย์ ได้แก่ พระราม พระลักษณ์ และกองทัพวานร และ กองทัพอสูร ได้แก่ ทศกัณฐ์ และบรรดาไพร่พลอสูร หลังการปะทะทัพกลางเวที ฝ่ายพระรามได้รับชัยชนะ สงครามยุติลงพระรามจึงเดินทางกลับนครอโยธยา บรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงอโยธยา
ครูแป๊ะ ธีรภัทร์ กล่าวถึงเยาวชนไทยกับโขน ว่า
"ปัจจุบันส่วนตัวผมมองว่า โขนกำลังฟื้นตัวนะ มันมีแรงผลักดันให้เด็กสมัยใหม่ต้องการเรียนโขนมากขึ้น ทั้งได้เล่น ได้ออกกำลังกาย โขนปัจจุบันไม่ได้ยืดเยื้อเช่นสมัยก่อน มีตอนที่สนุกสนานก็มี ทำให้เด็กๆ ที่เข้ามาเรียนสนุก อีกทั้งหลายๆ หน่วยงานให้การสนับสนุน เช่นมีชมรมโขนต่างๆ ทั้งในบางโรงเรียนยังสอดแทรกวิชาการแสดงโขนเข้าไปด้วย ยิ่งเป็นการต่อลมหายใจให้กับมรดกวัฒนธรรมชิ้นนี้ ตอนนี้การแสดงโขนกลายเป็นความนิยมของเด็กสมัยใหม่บางกลุ่มไปแล้วและยังมีคนรุ่นใหม่ต้องการที่จะสมัครเข้าเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ในทุกๆ ปี เนื่องจากเรามีคณาจารย์ซึ่งได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติมาสอนถึง 3 ท่านด้วยกัน ซึ่งการฝึกฝนนั้นครูทุกท่านต่างลงฝึกฝนเด็กๆด้วยตัวเองทั้งสิ้น"
ด้านเยาวชนคนเก่งที่ร่วมแสดงในครั้งนี้ นายวิภู บุญนาค(น้องภู) เป็นเยาวชนไทยคนนึงที่หลงใหลชื่นชอบวรรณกรรมรามเกียรติ์มาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะตัวละครทศกันฐ์ เมื่อมีโอกาสได้เรียนโขนจริงๆ ความชอบจึงกลายเป็นความรัก จนทำให้เขาเลือกเรียนเป็นวิชาเอก สาขา ศิลปะการแสดงโขนยักษ์ เมื่อเข้าสู่ชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร น้องภูร่ำเรียนวิชาการแสดงโขนยักษ์ที่สถาบันคึกฤทธิ์มาอย่างอดทน และฝึกฝนมาอย่างหนัก จนครั้งนี้ได้รับบทเด่นของเรื่องเป็นทศกันฐ์ และยังได้แสดงหน้าพระที่นั่ง กรมสมเด็จพระเทพฯ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจอันเหลือล้น น้องภูยังยืนยันว่าจะไม่ทิ้งทศกันฐ์ที่อยู่ในตัวของเขาแน่นอน แม้ต่อไปต้องเรียนรัฐศาสตร์แบบคุณตา แต่ทั้ง 2 ศาสตร์จะสามารถเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกันได้ เด็กน้อยกล่าวด้วยแววตาอันมุ่งมั่น
อุรัชฌา หวังในธรรม(น้องเอิ๊ก) เป็นหลานตาของศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เสรี หวังในธรรม ในการแสดงครั้งนี้ น้องรับบท "พระราม" ในท่วงท่าการร่ายรำที่องอาจ แต่อ่อนช้อยสวยงามดั่งขนบโบราณ
"ผมเริ่มเรียนโขนมาตั้งแต่ชั้นประถม 5 จนตอนนี้เรียนมัธยม 5 แล้วครับ เริ่มเรียนโขนมาด้วยใจรัก และครอบครัวก็ยังส่งเสริม โดยคุณแม่เป็นครูสอนรำ คุณพ่อเป็นครูสอนโขน ยิ่งทำให้เราซึมซับมาตั้งแต่จำความได้ เคยแสดงบทมาหลากหลายเป็นตัวประกอบทั้งเทวดา นางฟ้า กวางทอง จากนั้นก็ได้รับบทพระลักษณ์เมื่อปีก่อน ปีนี้ได้รับบทใหญ่เป็นตัวเอก พระราม และยังได้แสดงหน้าพระที่นั่ง นอนไม่หลับเลยครับรู้สึกปลื้มปิติมาก แต่ในการแสดงยิ่งสำคัญก็ยิ่งกดดัน ผมเองก็คาดหวังไว้ค่อนข้างสูง แต่ก็เกิดความผิดพลาดเพราะในช่วงการขึ้นลอยสูง ซึ่งเป็นท่ารบพิเศษของโขนโบราณ ใช้ตอนพระรามรบทศกัณฐ์เท่านั้น ท่าแรกพระรามเหยียบอยู่บนหน้าขาของทศกัณฐ์ ท่าที่สองพระรามใช้เท้าขวาเหยียบบนท่อนแขนของทศกัณฐ์ แต่ในรอบนั้นผมไปสู่ท่าสองไม่ได้ เสียใจมากกับตรงนั้น น้ำตาไหลในฉากนี้เลย แต่ก็รำจนจบ มารอบค่ำใจก็กลับมาขึ้นลอยได้สำเร็จ"
หลังผ่านการแสดงโขนรามเกียรติ์หน้าพระที่นั่ง ชุด ราพณ์พ่ายบารี พระจักรีครองเมือง" ขวัญและกำลังใจของเยาวชนคนโขน คณะครู และคณะผู้ทำงาน ของศูนย์ศิลปการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ต่างมีพลังในฝึกฝน การสืบทอด ส่งต่อศิลปะไทยที่ไม่สามารถบันทึกเก็บไว้ด้วยสื่อใดๆ บนโลก นอกจากการปลูกฝังลงในร่างกายและจิตใจของเยาวชนไทยเท่านั้น