กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร
รัฐมนตรีเกษตรฯ ห่วงสถานการณ์การระบาดโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตรเฝ้าระวัง และให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่ที่พบการระบาด พร้อมให้คำแนะนำป้องกันแก่เกษตรกร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ขณะนี้เกิดการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้รายงานสถานการณ์เบื้องต้นให้ทราบ พบการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่จังหวัดนราธิวาส ใน 8 อำเภอ พื้นที่รวม 277,030 ไร่ โดยเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เป็นเชื้อราสาเหตุของโรคใบร่วงที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน แต่เคยพบการระบาดในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับทางภาคใต้ของประเทศไทย คือ ร้อนชื้นและฝนตกชุก สามารถพบได้ทุกสายพันธุ์ แพร่ระบาดโดยลมและฝนจึงค่อนข้างยากต่อการป้องกันและควบคุม ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลงร้อยละ 30 – 50 ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางในภาคใต้ จึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง เร่งสำรวจพื้นที่การระบาดและออกให้คำแนะนำการป้องกันที่ถูกต้องแก่เกษตรกร
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่ปลูกยาง 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย กรมฯ ได้จัดทำคำแนะนำการป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ และกำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ออกสำรวจพื้นที่การระบาดพร้อมรายงานข้อมูลให้กรมฯ ทุกวันพุธ ภายในเวลา 12.00 น. รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเกี่ยวกับศัตรูพืชและแนะนำการป้องกันการระบาดของโรค ตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย และกรมวิชาการเกษตรด้วย
สำหรับลักษณะอาการของโรคจะปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการจะปรากฏรอยช้ำ เป็นกลุ่มเห็นได้ชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะแห้งตายเป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน ต้นยางอายุมากขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก ซึ่งอาการใบร่วงจากเชื้อราชนิดนี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง เนื่องจากมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตลดลง พบได้ในทุกพันธุ์ยางที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311 คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการป้องกันกำจัดเกษตรกรควรใส่ปุ๋ยบำรุงดินตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยบาง เพื่อให้ต้นยางพาราสมบูรณ์ แข็งแรง และพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อราหากมีการตรวจพบโรคใบร่วง อัตราการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ ดังนี้ ใช้สาร Thiophanate Methyl พ่นลงพื้นดินบริเวณที่พบเชื้อ หรือใช้สาร Benomyl, Hexaconazole, Thiophanate Methyl, Triadimefon และ Difenoconazole พ่นบริเวณทรงพุ่มยางพารา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อรา