กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ต้นปีแม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีรายงานการระบาด และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานยังไม่ดี เน้นย้ำประชาชนชนทั่วไปดูแลสุขอนามัยป้องกันการเจ็บป่วย ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม หมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงผู้ที่มีอาการป่วยและพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่น และหยุดเรียนหยุดงานจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลากล่าวถึง สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 ตุลาคม 2562 ว่าได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 6,535 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในจังหวัดสงขลา พบว่าอัตราป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีรายงานผู้ป่วย 1,469 ราย และไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 0 – 4 ปี เด็กวัยเรียนอายุ 5 - 9 ปี และ 10 - 14 ปี โดยพบว่าอำเภอคลองหอยโข่งมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาได้แก่ สิงหนคร, เมืองสงขลา, ควนเนียง, สะเดา และหาดใหญ่ สำหรับอำเภอหาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสงขลา มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 348 ราย (อัตราป่วย 86.25 ต่อประชากรแสนคน) และไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ จากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มการป่วยเพิ่มขึ้น แต่พบอัตราการเสียชีวิตลดลงและไม่พบผู้เสียชีวิตในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่การให้บริการฉีดวัคซีนครอบคลุมใน 7 กลุ่มเสี่ยง การเฝ้าระวังและตรวจจับเหตุการณ์การระบาด รวมทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับการป้องกัน ให้คำแนะนำประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยง ในการดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ) ของผู้ป่วย ผ่านการไอหรือจามรดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง อาการคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อมากและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน กลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอให้ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ปิด คือปิดปากปิดจมูก เมื่อไอจาม ต้องใช้หน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้าง คือล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ กลอนประตู ราวบันได ราวบนรถโดยสาร เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หยุด คือเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงานแม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หอบหืด ผู้ที่มีโรคอ้วน เป็นต้น หากมีอาการป่วยหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันทีหรือ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422