กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--โครงการสื่อสารแผนงานระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส.
สสส. เผยสุดยอดผลงานคลิปสั้น "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา" โจทย์กรุ๊ปเลือดเมา = คุก คว้าถ้วยพระราชทานไปครอง ระบุนำเสนอชัดเจน ตอบโจทย์ มีความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ชี้ชัดเดินหน้านำคลิปเผยแพร่รณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความสูญเสีย บาดเจ็บ และตาย ด้วยน้ำเมาทั่วประเทศ
โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวง สาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ชวนเยาวชนหรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 15-25 ปี ประกวดคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นด้วยมือถือ โครงการ "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา" ภายใต้โจทย์ กรุ๊ปเลือดเมา = คุก และหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ที่ผ่านมาพบว่าการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตของคนไทยเทียบกับปี 2561 พบยอดผู้เสียชีวิต จำนวน 4,631 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 40 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บ 3,829 ราย ลดลง 176 คน และจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุมีจำนวนลดลง 50 ครั้ง (จาก 3,841 ครั้ง เป็น 3,791 ครั้ง) โดยผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตพบเป็นเพศชายร้อยละ 65.06 ซึ่งกลุ่มอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดร้อยละ 17.59 สำหรับการบาดเจ็บและการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ร้อยละ 79.97 นอกจากนี้ยังพบว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มสุราของเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีจำนวน 1,445 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.47 ของผู้ดื่มสุราทั้งหมดด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้สังเกตได้ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแต่ละวันในช่วงเทศกาล มีจำนวนใกล้เคียงกับวันอื่นๆ นอกเทศกาล การเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีการปรับระบบการรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง อย่างจริงจังตลอดทั้งปีทุกวันไม่เฉพาะช่วงเทศกาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดรับเยาวชนเข้าร่วมโครงการมีผู้สนใจสมัครเข้ามาถึง 69 ทีม แต่มีเพียง 11 ทีมเท่านั้นที่ได้ลงมือผลิตคลิปสั้น โดยมีจำนวน 6 ทีมที่นำเสนอออกมาในประเด็นกรุ๊ปเลือดเมา = คุก และจำนวน 5 ทีม ที่นำเสนอออกมาในประเด็นหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามเลี่ยงกฎหมายโดยการโฆษณาสร้างแบรนด์ผ่านตราสัญลักษณ์ ที่ถูกจำกัดตามมาตรการในการควบคุมการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่าห้ามโฆษณา แล้วก็โฆษณาต้องเป็นเรื่องสร้างสรรค์สังคม แล้วก็ต้องโฆษณาในสิ่งที่ปรากฏในกฎกระทรวง ตามระยะเวลา ตามรูปแบบที่ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้กำหนดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มตามกฎหมายอาหาร แล้วใช้สัญลักษณ์ของเครื่องดื่มอาหารมาโฆษณาแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นช่องว่างของกฎหมาย ที่หากโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยตรงก็จะไม่มีปัญหา แต่ต้องหาวิธีการและมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาก่อน ตรงนี้เหมือนกับน้ำดื่ม โซดา ที่ใช้โลโก้คล้ายกัน แต่เจตนาโฆษณาสินค้าอื่นๆ ในแบรนด์นั้นๆ ดังนั้นอาจต้องใช้กฎหมายอาหารเข้ามาดำเนินการแทน โดยดูว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้อยู่ที่เจตนา หากโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยตรงเลย ก็จะไม่มีปัญหา แต่การมาโฆษณาว่าเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ต้องมีการตรวจสอบต่อไป
"จากผลงานของเยาวชนในประเด็นหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 เรื่อง อาทิ 1.เรื่องLate Night Ads : ทีม The1310 จากผู้ที่ทำงานอิสระ 2.เรื่องเรื่องเล่า(เหล้า) : ทีม Star Point จากโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง 3.เรื่องหลง : ทีม อยากทำProduction จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม 4.เรื่องความจริงที่ไม่ได้ยิน : ทีม Shawarma จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ 5.เรื่องติดตา(ม) : ทีม ATA จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น,วิทยาลัยนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อว่าทั้ง 5 เรื่องนี้เมื่อได้นำไปเผยแพร่ให้สังคมได้ชม ด้วยสื่อที่เด็กและเยาวชนสร้างสรรค์ขึ้นนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สังคมเข้าใจและตระหนักถึงความตั้งใจที่จะแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาในโฆษณารูปแบบต่างๆ ได้" นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช กล่าว
ด้านนางนงนุช ตันติธรรม รองผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ ซึ่งในการรณรงค์ที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายทั้งในระดับที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ คือการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งหากมีการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจแล้วไม่ยอมเป่า ถือว่า "เมา" ศาลอาจพิพากษาลงโทษจำคุก หรือให้ใส่กำไลคุมประพฤติระหว่างรอการลงโทษ และหากยอมเป่าแล้วพบว่ามีค่าแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่า "เมา" เช่นกัน มีความผิดตามกฎหมายจราจรจราจรทางบก มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบขับขี่ และสามารถยึดรถไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน และหากดื่มแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ไม่ยอมเป่า และไม่ยอมให้ตรวจเลือดให้สันนิษฐานว่าเมาสุราทุกราย และในกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตญาติมีสิทธิร้องขอให้พนักงานสอบสวนส่งตรวจเลือดผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งสถานพยาบาลของรัฐบาลสามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุกรายภายใน 4 ชั่วโมงได้ ซึ่งโทษสำหรับผู้ที่มีค่าแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถ้าขับรถไปชนผู้อื่นทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางร่างกายและจิตใจ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย ถ้าขับรถชนผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างสาหัส มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย และถ้าขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบขับขี่เลย และในกรณีผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือใช้ใบขับขี่ชั่วคราวหากตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าผิดกฎหมาย
"โดยทั้งหมดนี้ได้มีเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานคลิปสั้นประเด็นกรุ๊ปเลือดเมา = คุก ออกมาทั้งหมด 6 เรื่อง อาทิ 1.เรื่องพี่ยังไหว : ทีม Dark จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2.เรื่องสืบจับกรุ๊ปเมา : ทีม พเนจรจัด จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี 3.เรื่องแคร์(เหล้า) : ทีม SJ Production จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี 4.เรื่องแถวตรง : ทีม ผู้หญิงใส่แว่นคนนั้น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5.เรื่องDrink and DriveStory : ทีม Art Gallery จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และ 6.เรื่องซาซี้ : ทีม Shin Young จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยทั้ง 6 เรื่องนี้สร้างสรรค์ออกมาได้ดีมาก เป็นคลิปที่สนุก เนื้อหาเข้าใจง่าย ชาวบ้านดูแล้วเข้าใจ แถมยังได้ความสนุกสนานไปด้วย สามารถแปรข้อกฎหมายที่ยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ในเวลาที่สั้น และนี่สามารถเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารให้สังคมได้รู้ว่าหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องถูกตรวจแบบนี้" นางนงนุช ตันติธรรม กล่าว
ด้านนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นที่ผลิตจากโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนในครั้งนี้มีความหลากหลายและน่าสนใจ ซึ่งจากการตัดสินและคัดเลือกจากคณะกรรมการโดยใช้เกณฑ์ในการตัดสินที่เหมือนกันว่า มีแนวความคิดมีความชัดเจนที่สามารถตอบโจทย์เชิงประเด็นได้ อีกทั้งไอเดียที่สื่อออกมามีความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ อาทิ วิธีการเดินเรื่อง วิธีการนำเสนอ วิธีการคิด มุมมอง แปลกใหม่ น่าสนใจ พบว่า ผลงานที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองได้แก่ผลงานในหัวข้อ กรุ๊ปเลือดเมา = คุก เรื่องสืบจับกรุ๊ปเมา : ทีมพเนจรจัด จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , โล่เกียรติคุณ , ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 30,000 บาท ไปครอง ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เป็นผลงานในประเด็นกรุ๊ปเลือดเมา = คุก เรื่องDrink And Drive Story ของทีม Art Gallery จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม รับเงินรางวัล 20,000 บาท โล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ผลงานในประเด็นหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องLate Night Ads : ทีม The1310 จากผู้ที่ทำงานอิสระ รับเงินรางวัล 10,000 บาท โล่เกียรติคุณและประกาศนียบัตร และรางวัลสุดท้ายเป็นรางวัลชมเชย รับเงินรางวัล 5,000 บาท และประกาศนียบัตร ได้แก่ผลงานในประเด็นหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องแถวตรง : ทีม ผู้หญิงใส่แว่นคนนั้น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"โดยผลงานทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเผยแพร่เพื่อรณรงค์ สื่อสาร และกระจายออกสู่สังคมทุกช่องทาง เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับสังคม สามารถกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดความตระหนักถึงอันตราย รู้เท่าทันอันตรายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ลดการดื่มแล้วขับ ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เปรียบเสมือนกับดักร้ายที่ล่อลวงเราให้หลงเข้าไปและยากที่จะถอนตัว เพราะปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์ยังมีอยู่อีกมากมายในสังคม สำหรับผู้ที่สนใจรับชมผลงานทั้ง 11 เรื่องนี้ นอกจากจะสามารถติดตามชมได้ที่เว็บไซต์ www.artculture4health.com, www.Pings.in.th แล้ว ทางโครงการยังมีการจัดรวมแผ่นเพื่อส่งต่อไปยังสถานศึกษา และหน่วยงานที่สนใจในทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วย หากโรงเรียนไหน หรือหน่วยงานใดต้องการเพิ่มเติมสามารถติดต่อมารับได้โดยตรงที่ โครงการปิ๊งส์ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โทรศัพท์ 02-298-0988-9 ต่อ 102 ได้ มารู้เท่าทันและเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันสังคมจากภัยที่จะตามมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยกัน" นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว