กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สานฟ้า
กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นในศักยภาพผ้าไหมไทย ผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงเมืองรอง กับการท่องเที่ยววิถีชุมชนและวัฒนธรรมเส้นไหม ...นำสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ลงพื้นที่ชมความสวยงามของผ้าไหม แต่ละพื้นถิ่น ...ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน กระตุ้นการรับรู้...สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้สวมใส่ พร้อมเปลี่ยนทัศนคติ...ไหมไทย...สัญลักษณ์ไทย...ใครใครก็ใช้ได้ มั่นใจ...ความสวยงาม ทนทาน ครองใจผู้ใช้ได้ทุกกลุ่ม ย้ำ!! ผ้าไหมไทย..ได้สัมผัส/ใช้งานแล้วจะหลงรัก
นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยเน้นการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ทั้งในส่วนของแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาด และการเชื่อมโยงต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคและซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สินค้า และบริการในเมืองรองมากขึ้น ภายใต้แคมเปญ "เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง" เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็ง มั่นคง โดยใช้ผ้าไหมเป็นสื่อกลาง ในการเชื่อมต่อและสร้างการจดจำ"
"สาระสำคัญ คือ การยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายและการตลาดขนานไปตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ ด้านการผลิต เทคนิคเฉพาะ และอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชน โดยหัวใจหลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คือ การเผยแพร่ความสวยงาม และวัฒนธรรมการทอผ้าไหมที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งกว่าจะได้ผ้าไหมผืนงามหนึ่งผืนต้องใช้ความพิถีพิถัน ศิลปะ ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เส้นไหมธรรมดากลายเป็นผ้าไหมผืนงาม ที่มีลวดลายอันวิจิตรบรรจง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น สามารถสื่อถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ"
รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "กรมฯ ได้กำหนดการดำเนินงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง 3 ภูมิภาค 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 : นครราชสีมา (อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ สุรินทร์ เส้นทางที่ 2 : สกลนคร กาฬสินธุ์ เส้นทางที่ 3 : อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย เส้นทางที่ 4 : พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี เส้นทางที่ 5: สุพรรณบุรี ชัยนาท และ เส้นทางที่ 6 : น่าน อุตรดิตถ์ แพร่ ซึ่งทุกจังหวัดเมืองรองที่เป็นเส้นทางของการลงพื้นที่ล้วนแล้วแต่มีผ้าไหมเฉพาะถิ่นที่มีความสวยงาม ตลอดจนมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญสื่อมวลชนหลากหลายแขนง และบล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยว/ไลฟ์สไตล์ ที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมเดินทางด้วย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่สาธารณชนในวงกว้าง รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ให้หันมาตระหนักและใช้สอยผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง เป็นของฝากของกำนัลที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้รับ"
"เส้นทางการเดินทางแรก คือ จ.นครราชสีมา (อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ สุรินทร์ เดินทางระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2562 โดยที่ จ. นครราชสีมา อ.ปักธงชัย เดินทางไปที่กลุ่มหัตถกรรมบ้านดู่ ซึ่งมีผ้าไหมหางกระรอกที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และกำลังจะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI"
"จ.บุรีรัมย์ นอกจากจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งแล้ว บุรีรัมย์ยังมีผ้าไหมท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง เช่น ผ้าภูอัคนี (ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ) อ.เฉลิมพระกียรติ ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ กลุ่มผ้าไหมโนนกลาง อ.ดอนมนต์ ผ้าไหมมัดหมี่ลายลูกแก้ว กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอแปรรูปผ้าไหม - ผ้าฝ้าย อ.พุทไธสง ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองโก อ.นาโพธิ์ ผ้าซิ่นตีนแดง ณัฏฐาผ้าไหม อ.นาโพธิ์ ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านดอนกอก อ.นาโพธิ์ ฯลฯ เป็นต้น"
"จ. สุรินทร์ เมื่อเดินทางไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดสุรินทร์ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์แล้ว ยังมีผ้าไหมพื้นเมืองที่มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวให้เลือกชมเลือกซื้ออีกด้วย เช่น อ.ลำดวน ประกอบด้วย ดาวไหมไทย (ผ้าไหมมัดหมี่) กลุ่มทอผ้าไหมบ้านระไซร์ ผ้ามัดหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านยางจรม ผ้าไหมทอมือสีธรรมชาติ กลุ่มทอผ้าไหมและผลิตภัณฑ์เป่าแก้วบ้านหนองยาง ผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย นอกจากนี้ ยังมี ผ้าไหมบ้านอากลัว กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านอากลัว อ.เขวาสินรินทร์ ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้สวยสมใจผ้าไหมอาบโคลนดอกบัว อ.ศีขรภูมิ ฯลฯ เป็นต้น"
"ผ้าไหมไทย ได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศที่มีความสวยงาม มีความอ่อนนุ่ม เส้นไหมมีความเลื่อมเงางามโดยธรรมชาติ ใส่แล้วภูมิฐาน นอกจากนี้ คุณสมบัติพิเศษของผ้าไหม เมื่ออากาศร้อน...ผ้าไหมจะช่วยคลายร้อน และเมื่ออากาศหนาว...ผ้าไหมบางๆ กลับช่วยให้อุ่นสบาย ซึ่งจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของผ้าไหมไทย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจเมื่อสวมใส่หรือใช้งาน ทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นผ่านลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าไหมที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย"
"ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พบว่า ประเทศที่ผลิตเส้นไหมมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินเดีย อันดับ 3 อุสเบกีสถาน อันดับ 4 ไทย อันดับ 5 บราซิล ซึ่งปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยลดบทบาทภาคการเกษตรลง รวมทั้งสินค้าด้านหม่อนไหม ซึ่งสามารถเป็นดัชนีบ่งชี้ปริมาณการผลิตเส้นไหมที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของตลาดโลก ดังนั้น หากประเทศไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านหม่อนไหมอย่างเต็มที่ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้เกิดความแตกต่าง และคงอัตลักษณ์ในการเป็นไหมไทยโดยแท้ที่เป็นเส้นไหมที่สาวด้วยมือ ก็จะทำให้ไหมไทยสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ไม่ยากโดยเฉพาะตลาดอาเซียน" รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย