กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ม.มหิดล
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้วัสดุในผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออก ทั้งในส่วนของการผลิตสิ่งทอ ก่อสร้าง ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์อาหาร และการเกษตร ซึ่งจำต้องอาศัยความเข้มแข็งทางการวิจัยและพัฒนามาต่อยอดการผลิตสินค้าเพื่อสนองต่ออุตสาหกรรมของประเทศ โดยจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุในเชิงลึก เพื่อมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรม เพื่อสังคมไทย และประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีภารกิจในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรวัสดุศาสตร์และผลงานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของมวลมนุษยชาติ และสอดคล้องกับพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย จากการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติเพื่อเปิดมุมมองให้สามารถบูรณาการความรู้และประยุกต์ความรู้ไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีวัสดุใหม่ๆในระดับที่สูงขึ้น โดยในขณะเดียวกันเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการยกระดับฐานะของประชาชนในภาพรวม ทำให้ประเทศชาติสามารถพึ่งพาตัวเอง อีกทั้งยังช่วยให้สามารถลดการนำเข้าทางด้านวัสดุศาสตร์จากต่างประเทศได้
อาจารย์ ดร.ฒนันท์ วาริทนันท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ในการเตรียมพร้อมบัณฑิตจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเข้าศึกษา กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์ฯ จึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรม Young MATERIALS INNOVATOR Camp 2019 สำหรับเยาวชนที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจงานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ขึ้นเป็นปีแรก ระหว่างวันที่ 16 - 17 พฤศจิกายน 2562 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พบเหล่ากูรูตัวจริงด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุอย่างใกล้ชิด และได้ฝึกทดลองจริงใน 6 แลปงานวิจัยเด่นของกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ 1.แลป SiO? NANOMATERIALS โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ซึ่งเป็นการวิจัยเกี่ยวกับวัสดุนาโนซิลิกอนไดออกไซด์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่างๆเช่น กระเบื้อง กระจก ท่อ และวัสดุเคลือบผิวฯลฯ 2.แลป SMART INK โดย รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุที่เปลี่ยนสีได้จากสิ่งเร้าภายนอก เช่น อุณหภูมิ หรือ แสง 3. แลป COLORED SOLAR CELLS โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับเซลล์รับแสงอาทิตย์ที่เป็นฟิล์มบางซึ่งสามารถทำให้เป็นสีที่แตกต่างกัน 4. แลป HOLOGRAMS โดย อาจารย์ ดร.ฒนันท์ วาริทนันท์ ซึ่งเป็นการวิจัยที่ใช้แสงในการวัดค่าต่างๆ หรือดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับวัสดุ 5. แลป
SYSTEM FOR3D PRINTING โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการพิมพ์ขึ้นรูปวัสดุต่างๆ และ 5. แลป GOLD NANOPARTICLES FOR BIOMEDICAL โดย รองศาสตราจารย์ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ ซึ่งเป็นการศึกษาอนุภาคนาโนทองเพื่อการรักษาผู้ป่วย โดยการนำเอาอนุภาคนาโนทองไปเคลือบยา และส่งเข้าไปในตัวผู้ป่วย ให้ไปปล่อยยาในกระแสเลือด
เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ - 8 พฤศจิกายน 2562 ทางhttp://scme.sc.mahidol.ac.th/www.facebook.com/scmemohidol ค่าลงทะเบียนคนละ 1,500 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ ID LINE: YMIC19