กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
เนื่องด้วยเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก เพราะมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง หากตรวจพบความผิดปกติได้ในระยะแรกมี โอกาสในการรักษาก็จะประสบความสำเร็จสูง โดยทางมูลนิธิถันยรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช กลุ่มอาร์ตฟอร์แคนเซอร์ และชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันจัดงาน "Save your BREAST" สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม เพื่อกระตุ้นและรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ โดยสนับสนุนส่งเสริมสื่อและอุปกรณ์ที่มีระบบและประสิทธิภาพ สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น ทำให้การรักษานั้นมีประสิทธิผลและปลอดภัย ซึ่งภายในงานนี้มีการเสวนาด้านสุขภาพ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมเป็นเวลา 4 วัน ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
รศ. ดร. นพ. สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า "มะเร็งเต้านมภัยร้ายที่เป็นอันตรายสำหรับผู้หญิงที่คร่าชีวิตของผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นและมีอายุน้อยลง ซึ่งมักพบหลังคลำเจอความผิดปกติของก้อนในเต้านมขนาด 2 เซนติเมตรขึ้นไป หากตรวจพบเร็วในระยะแรกจะเป็นผลดีต่อการรักษา เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์ที่ทันสมัยสามารถตรวจพบตั้งแต่ก้อนเล็ก ทั้งวิธีการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา การให้ยาคีโม ยาต้านฮอร์โมน และยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่พัฒนาก้าวหน้า สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกให้มีโอกาสหายได้ หรือรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งการติดตามผลหลังได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ 1 - 5 ปี"
สำหรับวิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ท่านควรทราบขนาดและลักษณะเต้านมก่อน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะในการตรวจเต้านมคือ 5 - 7 วันหลังมีประจำเดือนวันสุดท้ายเนื่องจากช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่ม ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรรู้วิธีตรวจพื้นฐาน 3 วิธีนี้
1. การตรวจแบบก้นหอยหรือแบบตามเข็มนาฬิกา: คลำจากบริเวณหัวนม วนออกตามเข็มนาฬิกา จนถึงบริเวณรักแร้ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ บีบหัวนม ดู่ว่ามีน้ำแหลืองหรือเลือดไหลออกมาหรือไม่
2. การตรวจแบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว: ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงไปมาตามรูป ให้ทั่วทั้งเต้านม
3. การตรวจแบบรัศมีรอบเต้านม: เริ่มจากส่วนบนเต้านมเข้าหาฐานและขยับนิ้วหัวแม่มือ จากฐานถึงหัวนม ทำซ้ำเป็นรัศมีรอบเต้านม
คุณไอรีล ไตรสารศรี ตัวแทนชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยและอาร์ตฟอร์แคนเซอร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมและแบ่งปันคำแนะนำและประสบการณ์ถึงการรักษา ต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลามอย่างไรให้มีสุขภาพกายและจิตใจให้ดีได้ โดยกำลังใจหลักสำคัญของผู้ป่วยทุกคนนั้นคือคนในครอบครัว เพราะครอบครัวสามารถช่วยให้ผู้ป่วยนั้นฮึดสู้และไม่เกิดความกลัวที่จะเข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้น จึงอยากให้ผู้หญิงไทยรู้ทัน รู้เร็ว เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เพื่อสามารถมีโอกาสหายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป