กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีความร่วมมือกับ National Institute of Technology (สถาบันโคเซ็น) ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ลงนามความร่วมมือมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 สอศ.และสถาบันโคเซ็น ได้ร่วมกันจัดตั้ง สถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่นโคเซ็น (Japanese – Thai KOSEN Institute of Engineering and Technology) ณ สอศ.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนประเภทวิชาอุตสาหกรรม สร้างกำลังคนคุณภาพรองรับผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยในปีการศึกษา 2562 นี้ ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรตามมาตรฐานโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่นใน 2 สถานศึกษา 2 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) เปิดสอนสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เปิดสอนสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ซึ่งผู้ที่เข้าเรียนต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป โดยผ่านการสอบคัดเลือกตามเกณฑ์คือ สอบข้อเขียน 70 % ประกอบด้วยวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) และภาษาอังกฤษ ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน KOSEN และสอบสัมภาษณ์ 30% ประกอบด้วย การนำเสนอแฟ้มสะสมผลงาน การวัดทักษะทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี และบุคลิกภาพ ดำเนินการโดยสถานศึกษา ทั้งนี้ นักเรียนที่สอบผ่านจะต้องมีความรู้ความสามารถตรงกับคุณสมบัติมาตรฐานของ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น
นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐาน KOSEN ที่วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี พบว่าวิทยาลัยมีความพร้อมอย่างยิ่งในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร KOSEN สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) และ ตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สอศ.จะมีช่างฝีมือคุณภาพที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีสมรรถนะสูง ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 และนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาก็เป็นคนที่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และฟิสิกส์ ประกอบกับนักเรียนและผู้ปกครองมองเห็นว่าตลาดแรงงาน หรือโลกในอนาคตอันใกล้นี้จะใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมแทนการใช้แรงงานคน คนก็จะตกงานมากขึ้น แต่ถ้าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการควบคุมหุ่นยนต์ ก็จะมีโอกาสในอนาคตมากกว่าคนอื่นๆ และสาขาวิชาสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์นี้ก็สามารถพัฒนาต่อยอดได้ในหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ อาชีพ หรือไปศึกษาต่อเพิ่มเติมในสาขาอื่นได้อีกด้วย ทั้งนี้ สอศ. มีเป้าหมายให้ผู้ที่เรียนจบได้ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย และตอบโจทย์การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งผู้เรียนทุกคนจะได้รับความรู้และทักษะตรงกับความต้องการที่เป็นปัจจุบันของภาคอุตสาหกรรมไทย